นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security: CFS) ครั้งที่ 52 ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมี Ms. Nosipho Nausca-Jean Jezile เป็นประธานการประชุม พร้อมผู้แทนจากประเทศสมาชิก 121 ประเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ร่วมกันหารือในหัวข้อ สร้างความแตกต่างในด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ (Making a Difference in Food Security and Nutrition) มุ่งเน้นการผลักดันนโยบายการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สิทธิในอาหาร การส่งเสริมบทบาทของสตรี และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของชุมชน ชนบทและเมือง และทาง Mr.Alvaro Lario ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยเรียกร้องให้ทั่วโลกเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเร่งด่วน ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ราคาไม่แพง เพียงพอ ให้แก่ประชากรโลกอย่างเท่าเทียม อีกทั้ง IFAD ยังมีแผนที่จะลงทุนกว่า 10 พันล้านดอลลาร์ในการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ชนบท เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและความสามารถในการฟื้นตัวและการมีภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายปัจจุบันให้แก่เกษตรกรด้วย
ขณะเดียวกัน Mr.Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่ของ FAO ได้เน้นย้ำถึงโอกาสสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ โดยเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการประชุม CFS และการครบรอบ 20 ปี ของการรับรองเอกสารแนวทางปฏิบัติของ CFS เกี่ยวกับการตระหนักถึงสิทธิในอาหาร ในบริบทของความมั่นคงด้านอาหาร โดยกล่าวว่า เอกสารและผลลัพธ์นโยบายที่เกิดจากการประชุม CFS จะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประเทศสมาชิกต่อสู้กับความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งจากรายงานสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของโลก ปี 2567 พบว่า มีประชากรกว่า 713-757 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงเผชิญกับความอดอยาก ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 11 ของประชากรโลกทั้งหมด และมีอีก 2.33 พันล้านคนที่อยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ ทั่วโลกต้องให้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น FAO, IFAD และ โครงการอาหารโลก (WFP)เพื่อสร้างนโยบายที่มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและกลุ่มเปราะบางทั่วโลกอย่างแท้จริง
โอกาสนี้ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นครัวของโลก โดยเน้นว่าภาคการเกษตรไทยมีความพร้อมในทุกมิติเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงอาหารทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ ด้วยนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ และประเทศไทยมุ่งพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็นผู้ผลิตที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยสนับสนุนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคการเกษตร เพื่อสร้างสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรรมแม่นยำ และการเกษตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายดังกล่าว นอกจากนี้ เลขาธิการ สศก. ยังได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG และโครงการคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ภาคการเกษตรของไทยสามารถรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มผลผลิตและใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก สะท้อนบทบาทของไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงในเวทีนานาชาติ
พร้อมกันนี้ นางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้เป็นผู้แทนนำเสนอแนวทางการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคการเกษตร สร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ผ่านโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ซึ่งส่งผลให้กลุ่มแม่บ้านจาก 77 จังหวัดของประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนการสร้างแหล่งอาหารต้นแบบและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในชุมชน อีกทั้ง ได้ชูปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์ร่วมกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การปลูกพืชสมุนไพรเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและโภชนาการ ตลอดจนความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการผลักดันกฎหมายการถือครองกรรมสิทธิ์ การคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตร การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพ อันนำไปสู่ความมั่นคงอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชนต่อไป
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ