บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ดีเดย์พร้อมใช้ได้ 1 ตุลาคม 2560 คนที่ลงทะเบียนคนจนไว้จะได้เงินช่วยเหลืออะไรบ้าง มาเช็กรายละเอียดต่าง ๆ กันเลย
ถือเป็นข่าวดีของผู้มีรายได้น้อยกว่า 11.67 ล้านคนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติโครงการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 หรือลงทะเบียนคนจน 2560 เมื่อรัฐบาลเตรียมแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บัตรคนจน” ให้ผู้ที่ลงทะเบียนได้รับสวัสดิการความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อลดภาระค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยรัฐบาลพร้อมทุ่มงบเดือนละ 3,495 ล้านบาท หรือปีละ 41,940 ล้านบาท สนับสนุนโครงการดังกล่าว
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า บัตรคนจนที่รัฐบาลมอบให้นั้นนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง หรือจะได้รับการช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพอย่างไร กระปุกดอทคอม ได้รวบรวมข้อมูลของโครงการมาแจกแจง ให้ทราบกัน
บัตรคนจนช่วยเหลือเรื่องไหนบ้าง
การช่วยเหลือของโครงการนี้จะแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และส่วนที่สองจะช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ประกอบด้วย ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยรัฐบาลจะให้เงินในบัตรไปซื้อสินค้า
เงินช่วยเหลือที่ได้รับ :
– กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน
– กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่กิน 1 แสนบาท จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ทั้ง 2 กลุ่ม ยังได้วงเงินสำหรับเป็นส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนดอีกคนละ 45 บาทต่อ 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปใช้หนี้ที่ค้างชำระกับร้านค้า หรือนำไปซื้อสุรา บุหรี่ได้ เพราะไม่ใช่สินค้าอุปโภคที่จำเป็น แต่สินค้าที่สามารถซื้อได้ เช่น ข้าวสาร ผงซักฟอก ยาสีฟัน ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และปุ๋ยเคมี
ประกอบด้วย ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า รถโดยสารของ บขส. และรถไฟ
เงินช่วยเหลือที่ได้รับ :
– ค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อเดือน (ใช้ชำระค่าโดยสารด้วยระบบ e-Ticket)
– ค่าโดยสารรถ บขส. วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
– ค่าโดยสารรถไฟ วงเงินไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน
โดยเงินช่วยเหลือในแต่ละส่วนจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่นำมารวมกัน
ทั้งนี้ บัตรคนจนที่แจกจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งแบบแรกจะเป็นมี 2 ชิปการ์ด ผลิตมาจำนวน 1.3 ล้านใบ เพื่อมอบให้กับประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งจะสามารถใช้กับระบบตั๋วร่วม เพื่อขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้
ส่วนบัตรสวัสดิการแบบที่ 2 ของคนในจังหวัดอื่น ๆ จะมีชิปการ์ดเดียว จึงไม่สามารถนำมาใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็สามารถมาแจ้งเปลี่ยนเป็นบัตรแบบ 2 ชิปการ์ดได้
ใช้เงินในบัตรไม่หมด เก็บไว้ใช้เดือนหน้าได้ไหม ?
วงเงินในบัตรในแต่เดือน หากใช้ไม่หมดจะถูกตัดยอดทันทีทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน และไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป โดยหากมีการใช้หมดวงเงินแล้ว แต่อยากใช้เพิ่มก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเอง ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถเติมเงินผ่านธนาคาร เพื่อใช้ได้เหมือนบัตรเดบิต
บัตรคนจนจะสามารถเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 โดยสามารถเริ่มไปรับบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ณ จุดที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย คือ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทุกเขต
กรณีที่ทำบัตรคนจนสูญหาย สามารถดำเนินการทำบัตรใหม่ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัตรใหม่ จำนวน 50 บาท สำหรับบัตรที่มี 1 ชิปการ์ด และมีค่าใช้จ่าย 100 บาท สำหรับบัตรที่มี 2 ชิปการ์ด
บัตรคนจน กับมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในอนาคต
กระทรวงการคลังยังมีแผนที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมในอนาคต โดยเตรียมจะเสนอ ครม. พิจารณาแนวทางการจ่ายเงินเข้าบัญชีให้กับที่ผู้รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ผ่านการโอนเงินภาษีให้ผู้มีรายได้น้อย (Negative Income Tax) โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับความช่วยเหลือต้องเข้ามาพัฒนาความรู้ พัฒนาอาชีพด้านต่าง ๆ
สำหรับใครที่ผ่านคุณสมบัติของโครงการลงทะเบียนคนจนแล้ว ก็เตรียมรับความช่วยเหลือจากรัฐได้เลย แต่ใครที่พลาดการไปลงทะเบียนรับสิทธิประโยชน์นี้ไปก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะยังสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือในปีต่อไปได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนคนจนได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือโทร. 02-273-9020