เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 28 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีกลุ่มทวงคืนผืนป่าให้กับแผ่นดินและชาวสุรินทร์ ประมาณ 50 คน เดินทางเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์, กองกำลังสุรนารี และ มณฑลทหารบกที่ 25 เพื่อเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 100 กว่าไร่ จาก ตลาดสมบัติ หรือตลาดอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และเป็นพื้นที่เขตความมั่งคง บริเวณชายแดนระหว่าง ประเทศไทย และ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายทุนเข้าไปครอบครองเพื่อสร้างอาคารสถานที่ทำเป็นตลาดการค้าชายแดนอาเซี่ยน โดยเริ่มแรกมีการทำสัญญากับ กรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นระยะเวลา 10 ปี จนหมดสัญญาในปี 2546 หลังจากนั้นตลาดยังไม่มีการต่อสัญญา ต่อมาจนถึงปี 2549 สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งให้ตลาดดังกล่าวระงับกิจการและหยุดการดำเนินการโดยไม่ให้มีการต่อใบอนุญาตเช่าที่อีก กระทั้ง ปี 2557 นายทุนกลับสามารถต่อสัญญาอีก 10 ปี และดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า “กลุ่มทวงคืนผืนป่าเพื่อแผ่นดินจังหวัดสุรินทร์” เป็นการรวมตัวของชาวสุรินทร์ นำโดย ร.อ.สมนึก กล้าหาญ นายทหารนอกราชการ, นายธนสิน พงษ์สวัสดิ์ อดีตข้าราชการครู, นายสุภาพ วงษ์บุญ ชาวบ้านพื้นที่ และ ชาวจังหวัดสุรินทร์ กว่า 50 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานของ ตลาดสมบัติ ว่าเป็นไปตามระเบียบราชการและกฎหมายหรือไม่ เพราะอดีตเคยมีการร้องเรียนจากกลุ่มประชาชนมาแล้วเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว โดยในหนังสือร้องเรียนมีใจความสำคัญต่างๆ อาทิ เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์และทราบจากข่าว ทั้งทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ในการใช้มาตราดำเนินการทวงคืนผืนป่า จากกลุ่มนายทุนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้เข้ายึดครองเอาผืนป่า ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปใช้ประโยชน์เฉพาะเพื่อตน กลุ่มพวกของตน อันเป็นการเอาเปรียบสังคมส่วนรวม ทางรัฐบาลได้มี ชุดพญาเสือ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ซึ่งขณะนี้มีผลงานยึดคืนผืนป่าจากทั่วประเทศกลับคืนสู่สังคมส่วนร่วมมาได้มากมาย ตลาดซุกในป่านี้ ปัจจุบันนี้ ป่าก็ได้ถูกถากถางจนเสื่อมโทรมหมดแล้วอย่างน่าเสียดาย ประชาชนคนในละแวกนั้น รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่นส่วนมากก็จะเกรงกลัวอิทธิพล ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นสู้ในเรื่องนี้ถึงกับต้องย้ายที่อยู่
จึงมีความประสงค์ให้ท่านดำเนินการตรวจสอบ “ตลาดสมบัติ”(ช่องจอม) ว่าโครงการตลาดดังกล่าว ถูกอนุมัติ ยินยอมให้โครงการนี้พลิกฟื้นขึ้นมาอีกได้อย่างไร ทั้งๆที่หมดสัญญากับกรมป่าไม้ไปตั้งนานแล้ว มีความไม่ชอบมาพากลหรือมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจใด ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ จึงทำให้สามารถที่จะเปิดตลาดในป่าสงวนได้ ทั้งๆที่มีพื้นที่ๆจะทำตลาดได้อย่างถูกต้อง ติดทางหลวง 214 ตั้งเยอะแยะ ไม่พัฒนาไปพัฒนาในป่าหรือว่าเอกชนเช่าที่ป่าได้ ชาวบ้าน ชาวช่อง หาของป่าโดนจับ แต่ตลาดนักการเมืองดันไปอยู่ในป่าสงวนได้ แถมเป็นป่าต้นน้ำ เขาเรียกว่า ป่าห้วยทับทันฝั่งซ้ายติดกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ พื้นที่แห่งนี้เคยถูกระงับการดำเนิน เนื่องจากเกิดปัญหาผลประโยชน์, การเมืองระหว่างประเทศ, การเมืองท้องถิ่น และการอนุรักษ์ผืนป่า มาแล้ว
นอกจากนี้ ตามมาตรการทวงคืนผืนป่าจากกลุ่มนายทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ยึดครองผืนป่า ซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มนายทุน ซึ่ง ตลาดสมบัติ (ช่องจอม) แม้ปัจจุบันจะได้รับอนุญาตให้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ให้มีการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ โดยจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ป่าแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแหล่งต้นน้ำลำธาร เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีแหล่งน้ำอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
ดังนั้น กลุ่มทวงคืนผืนป่าเพื่อแผ่นดินจังหวัดสุรินทร์ จึงมีความประสงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ “ตลาดสมบัติ” (ช่องจอม) ว่าโครงการตลาดดังกล่าว ถูกอนุมัติ ยินยอมให้โครงการนี้พลิกฟื้นขึ้นมาอีกได้อย่างไร ทั้งๆ ที่หมดสัญญากับ กรมป่าไม้ ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากล จึงทำให้สามารถเปิดตลาดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้
โดย ร.อ.สมนึก กล้าหาญ นายทหารนอกราชการ ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวว่า วันนี้ได้เดินมาพร้อมพี่น้องกลุ่มทวงคืนผืนป่าเพื่อแผ่นดินจังหวัดสุรินทร์ เพื่อมาเรียกร้องทวงคืนผืนป่า ซึ่งที่ผ่านมาตนเคยรับราชการในพื้นที่ป่าชายแดนช่องจอมด้านจังหวัดสุรินทร์ ที่ผืนป่าแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันป่าไม้ได้เปลี่ยนแปลงไปถูกบุกรุกไปอยู่กับกลุ่มนายทุนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งป่าแห่งนี้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนมาแล้วแต่เรื่องก็เงียบหายไป จึงได้มีการมาร้องเรียนอีกครั้ง
เช่นเดียวกันกับ นายธนสิน พงษ์สวัสดิ์ อดีตข้าราชการครู กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตำบลด่าน ติดกับชายแดน ปัจจุบันถูกนายทุนเข้าไปทำประโยชน์ ก็อยากให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องเข้าดูแลและทวงผืนป่ากลับให้กับพวกเราและทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ได้เป็นผลประโยชน์กับใครคนใดคนหนึ่ง วันนี้ทำการยื่นหนังสือกับ กองกำลังสุรนารี มณฑลทหารบกที่ 25 และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ ให้ดำเนินการตรวจสอบและทวงพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกกลับคืนมาเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งทุกวันนี้พื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็นตลาดอาเซียน เพราะพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าชายแดนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ