นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ได้มุ่งภารกิจการจัดทำและให้บริการข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และมีรายละเอียดในระดับพื้นที่ครอบคลุมกิจกรรมการเกษตรทั่วประเทศ ดังนั้น สศก. จึงได้มีแนวคิดการจัดทำข้อมูลพื้นฐานของสินค้าเกษตรที่สำคัญภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กิจกรรมการจัดทำข้อมูลกรอบตัวอย่างสำหรับการสำรวจ (Sampling for List Frame Survey)
โดยอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผลักดันให้ อกม. มีบทบาทหน้าที่สร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อยกระดับศักยภาพและพัฒนาสู่การสร้างรายได้ โดยกำหนดเป้าหมายสำรวจที่มีอยู่ทุกหมู่บ้านทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 75,000 หมู่บ้าน รวม 26 ชนิดสินค้า พืช,ปศุสัตว์ และประมง ได้แก่ ข้าว,ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์,ถั่วเหลือง,มันสำปะหลังโรงงาน,สับปะรดปัตตาเวีย,ยางพารา,ปาล์มน้ำมัน,ทุเรียน,ลำไย,มะม่วงน้ำดอกไม้,มะพร้าวผลแก่,สุกร,โคเนื้อ,ไก่เนื้อ,เป็ดเนื้อ,โคนม,ไก่ไข่,เป็ดไข่,กระบือ,ไก่พื้นเมือง,กุ้งกุลาดำ,กุ้งก้ามกราม,กุ้งขาวแวนนาไม,ปลาดุก,ปลานิลหรือปลาทับทิม และปลากะพงขาว
กิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และ อกม. ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่จัดเก็บหรือรายงานข้อมูลการเกษตร ผ่านระบบ Frame-asa ที่ได้พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการลงทะเบียนผู้ปฏิบัติงาน การบันทึกข้อมูลที่สำรวจ และการจ่ายค่าตอบแทน โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ในการถ่ายทอดวิธีการดำเนินงานภาคสนามในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งนอกจากตอบโจทย์เพื่อบรรลุเป้าหมายของกิจกรรมแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรและลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานจัดทำข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกด้วย
การดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้กำหนดเป้าหมาย 14,271 หมู่บ้าน โดยผลการดำเนินงาน อกม. ได้รายงานและบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลรวม 14,270 หมู่บ้าน (ร้อยละ 99.99 ของเป้าหมาย) รวม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสระบุรี,ลพบุรี,พระนครศรีอยุธยา,นนทบุรี,นครนายก,ปราจีนบุรี,ฉะเชิงเทรา,สระแก้ว,จันทบุรี,ตราด,ระยอง,ชลบุรี,สมุทรปราการ,กำแพงเพชร,พิจิตร,นครสวรรค์,อุทัยธานี และเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตาม จากรายงานข้อมูลในระบบ พบว่าหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่หรือใกล้กับเขตเทศบาลซึ่งเป็นเขตเมือง บางพื้นที่จะไม่มีรายงานกิจกรรมการเกษตร ซึ่งพบว่าเป็นหมู่บ้านที่ประกอบกิจกรรมการเกษตรอื่นนอกเหนือจากข้อมูลของสินค้าที่จัดเก็บ ทั้งนี้ เมื่อรวมกับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งดำเนินการ 26 จังหวัด 15,996 หมู่บ้าน พบว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในพื้นที่ภาคใต้และภาคกลาง รวม 44 จังหวัด 30,266 หมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สศก. จะยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมเพิ่มเติมอีก 26,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน ซึ่งหลังจากที่ได้จัดเก็บข้อมูลครบทุกหมู่บ้านที่มีกิจกรรมการเกษตรตามเป้าหมาย สศก. มีแผนที่จะพัฒนาฐานข้อมูลให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลระดับหมู่บ้านสำหรับการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันในเวลาเดียวกัน และสามารถใช้ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลสารสนเทศการเกษตรมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ รวมถึงพัฒนารายงานผลข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวก และตรงตามความต้องการต่อไป ท่านที่สนใจต้องการสอบถามข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร โทร.02561 2870 อีเมล prcai@oae.go.th
Cr.ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร