สถานพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดลพบุรี และคณะเจ้าหน้าที่
จัดงานวันคล้ายวันสถานปนากรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจัดงานครบรอบ 22 ปี
เมื่อเวลา 09:00 นาฬิกา ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567
นายผดุงศักดิ์ จุลพันธ์ ผู้อำนวยการสถานพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดลพบุรี และคณะเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยนางภิรมย์รัช เปาริก ประธานกรรมการ สงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดลพบุรี และคณะกรรมการ สงเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการจัดโครงการพินิจลพบุรี ทำดีด้วยหัวใจ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 22 ปี กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีการจัดกิจกรรมทำความสะอาด ปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่บริเวณ โดยรอบสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดลพบุรี อาคารบูรณาการกระทรวงยุติธรรม จังหวัดลพบุรี
ก่อนเกิดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ขณะที่ใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มีการควบคุมเด็กที่กระทำผิดโดยในปี พ.ศ. 2450 ได้จัดตั้งโรงเรียนดัดสันดานขึ้นที่เกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเพื่อควบคุมผู้กระทำผิดซึ่งมีอายุระหว่าง 10-16 ปี อยู่ในความดูแลของกรมตำรวจและในเวลาต่อมาได้โอนไปอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์
หลักจากนั้นมีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช 2479 และพระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวกพุทธศักราช 2479 วางหลักปฏิบัติต่อนักโทษผู้ใหญ่กับนักโทษเด็ก และเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนดัดสันดานมาเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพพร้อมทั้งย้ายมาตั้งที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเมื่อปี 2501 กรมราชทัณฑ์ได้โอนกิจการโรงเรียนฝึกอาชีพไปให้ กรมประชาสงเคราะห์ดำเนินการซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับเด็กไว้ฝึกอบรม ณ เยาวชนสถาน บ้านห้วยโป่ง จังหวัดระยอง
รัฐบาลเห็นว่าการปฏิบัติต่อเด็กในระหว่างจับกุมหรือพิจารณาคดีโดยใช้วิธีการเช่นเดี่ยวกับผู้ใหญ่นั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม และเป็นผลเสียต่อเด็กจึงได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 และกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดดำเนินการ ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง กับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2495 มีที่ทำการชั่วคราวที่ศาลแขวงพระนครใต้ (เดิม) ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ซึ่งภายหลังได้ย้ายมาอยู่อาคารที่ถนนราชินี ใกล้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
ต่อมาเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวว่ามีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนจึงนำคดีครอบครัวมาพิจารณาในศาลนี้ด้วย โดยยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งสองฉบับและให้ใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 แทน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อศาลคดีเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก มาเป็น ศาลเยาวชนและครอบครัว และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
เมื่อกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเกิด
กรมก่อกำเนินโดยมาตรา 33 (6) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 99 ก. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 3 ตุลาคม 2545 และได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2545 มีหน่วยงานในสังกัด 5 หน่วยงาน ได้แก่สำนักงานเลขานุการกรม ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด สำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชนโดยภารกิจของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเดิมนั้นถูกแยกส่วนการฝึกอบรมเด็กและเยาวชนไปอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนแทน และกรมได้เปิดดำเนินการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนครบทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2549 ส่วนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวม 19 ศูนย์
ภายหลังกรมเกิดแล้วมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง คือ ได้ยกเลิกกฎหมายเดิมและ ใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2553 โดยมีผลให้ใช้บังคับเมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ตราดุลพ่าห์ ได้แก่ ตราชู คือเครื่องชั่งให้รู้หนักเบา หมายถึงความรับผิดชอบ ในการผดุงความยุติธรรมให้สถิตเสถียร ปราศจากอคติ
ดอกบัว หมายถึง คุณธรรมความรู้
พญานาค หมายถึง อำนาจความเข้มแข็ง การปกป้องคุ้มครอง
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
สีทอง หมายถึง เป็นสีองค์ประกอบของเครื่องหมาย ความรุ่งเรือง ศักดิ์ศรี ความสง่างาม
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ไพรัตน์ ทองแก้ว
ศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ