อพยพไทยในลิเบีย 1500 คน กลับด่วน สำหรับ‘สถานทูต’ อาจจะปิดชั่วคราว!
“ประยุทธ์” สั่งเร่งอพยพ 1,500 คน ในลิเบีย โดยชุดแรกจะออกมาภายใน 48 ชม. หลัง คาดสถานการณ์
จะรุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงจ่อปิดสถานทูตไทยในลิเบียชั่วคราวหากจำเป็น ด้านทูตไทยในอิสราเอล
เผย 65 คนไทยขอย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยง ขณะที่ศพแรงงานไทยจากอิสราเอลถึงไทยแล้ว ยืนยันได้รับ
สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนอิสราเอล รวมถึงได้เงินช่วยเหลือจากกรมการจัดหางาน นายจ้าง
และบริษัทจัดหางาน
กระทรวงการต่างประเทศเร่งอพยพคนไทยจากพื้นที่สู้รบในลิเบีย โดยเมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 28 ก.ค.
นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ในลิเบียที่ยังตึงเครียดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.และหัวหน้า
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้เร่งช่วยเหลือคนไทยในลิเบีย ซึ่งมีทั้งหมด 1,500 คน
ออกมาเพื่อความปลอดภัย ซึ่งนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่
รมว.ต่างประเทศ ได้สั่งการให้เร่งประชุมเพื่อหาข้อยุติโดยเร่งด่วน โดยนายกิตติพงษ์ ณ ระนอง
เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงทริโปลี ประเทศลิเบีย รายงานสถานการณ์ว่าจากปัญหาการสู้รบภาย
ในพบว่าพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันดับแรก คือ บริเวณกรุงทริโปลี มีนักศึกษาไทย 11 คน
และคนไทยที่อยู่โดยรอบสนามบินที่ถูกปิดอีก 30 คน จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการอพยพออกมา
เป็นชุดแรกภายใน 48 ชั่วโมง และชุดที่สองคือกลุ่มคนไทยที่อยู่เมืองเบงกาซี 70 คน จากนั้นจะ
ทยอยอพยพคนไทยที่เหลือรวม 1,500 คน ออกมาทั้งหมด ไปพักที่เมืองตูนิส และเมืองเจอร์บา
ของตูนิเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนลิเบีย 150 กิโลเมตร หรือเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เป็น
สถานที่แรกก่อนที่จะอพยพกลับไทยทั้งหมด
นายณัฏฐวุฒิกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าจะรุนแรงและอาจยืดเยื้อยาวนาน จึงจะมี
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศ กรมการจัดหางานและแพทย์ทหารจากกองทัพ คอยประสาน
งาน ส่วนจะปิดสถานทูตไทยในลิเบียหรือไม่นั้น หากสถานการณ์รุนแรงและไม่เหมาะสม ก็มีความจำ
เป็นต้องถอนหรือปิดเป็นการชั่วคราว ซึ่งญี่ปุ่นและสหรัฐฯได้สั่งปิดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้
อพยพครอบครัวเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยในลิเบียออกมา ส่วนเจ้าหน้าที่จะรอประสานงานให้คนไทย
อพยพออกมาหมดก่อนจึงจะเดินทางออกมาเป็นชุดสุดท้าย นอกจากนี้ ในวันพุธที่ 30 ก.ค.นี้ อธิบดี
กรมการจัดหางานจะประชุมร่วมกับนายจ้าง บริษัทจัดหางานที่ส่งคนงานไทยไปทำงานในลิเบีย
11 บริษัท เพื่อหามาตรการช่วยเหลือแรงงานด้วย
ส่วนความคืบหน้าสถานการณ์ในอิสราเอล นายจักร บุญหลง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ
ประเทศอิสราเอล ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์จากอิสราเอลถึงสถานการณ์ในพื้นที่หลังเกิดการสู้รบ
ภายในว่านับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ได้ประชาสัมพันธ์ให้คนไทยในพื้นที่เสี่ยงทราบว่าสามารถหยุด
งานหรือย้ายงานชั่วคราวได้ โดยสถานทูตจะประสานกับนายจ้างให้ย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยัง
พื้นที่ใหม่ ซึ่งมีงานรองรับและแรงงานจะยังได้รับเงินเดือน โดยล่าสุดในพื้นที่เสี่ยงในระยะ 20 กิโลเมตร
ของพื้นที่ชายแดนฉนวนกาซา ซึ่งมีแรงงานไทย 65 คนจาก 500 คน แจ้งความจำนงย้ายออกจาก
พื้นที่ โดยมี 7 คน ที่เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว และ 13 คน ย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงแล้ว และ
วันนี้ 28 ก.ค.จะย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงเพิ่มอีก 30 คน อย่างไรก็ตามมีแรงงานไทยที่ยังคงลังเล
ขอย้ายแล้วเปลี่ยนใจจะอยู่ต่อ เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ดูเหมือนสงบลง โดยตั้งแต่ช่วงเช้ายังไม่
ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยและเสียงรถฉุกเฉินที่เคยวิ่งรับผู้บาดเจ็บ ซึ่งอาจเป็นช่วงวันฮารีรายอ
รวมถึงแรงงานยังไม่ค่อยแน่ใจว่ากลับมาจะยังมีงานทำหรือไม่
ส่วนกรณีแรงงานไทยที่เสียชีวิตในอิสราเอล 1 คนที่นำศพกลับมาแล้วนั้น นายจักรกล่าวว่า
รัฐบาลอิสราเอลออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการส่งศพกลับและครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิ
ประโยชน์เช่นเดียวกับคนอิสราเอล ซึ่งจะรับเงินชดเชยทุกเดือนไปตลอดชีวิตและให้ทุน
การศึกษาแก่บุตรด้วย ทั้งนี้รัฐบาลอิสราเอลได้ลงข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์
เสียชีวิตของคนไทยผ่านสื่อท้องถิ่นเมื่อวานนี้
ต่อมาเวลา 15.00 น. ที่ศูนย์รับส่งสินค้าเร่งด่วน สนามบินสุวรรณภูมิ สายการบินอิสราเอล
แอร์ไลน์สเที่ยวบิน แอลวาย 081 นำศพนายนรากร กิตติยังกุล แรงงานไทยในอิสราเอล
ที่ถูกระเบิดเสียชีวิตจากสถานการณ์การสู้รบ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เดินทางมาถึง โดยมี
นายวินัย ลู่วิโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นางโอริต ชาณี อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายกงสุล
สถานทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย นำนางวันเพ็ญ ยาอุด และนายกิตติชัย ย่านสากล พี่สาว
และพี่ชายของนายนรากร พร้อมญาติพี่น้องประมาณ 10 คน มารอรับศพด้วยความเศร้าสลด
โดยทันทีที่เห็นโลงศพบรรจุร่างน้องชาย นายกิตติชัยได้เข้าไปใช้มือลูบโลงศพร่ำไห้อย่างน่าเวทนา
นางวันเพ็ญกล่าวว่า สูญเสียน้องชายไปทำให้ต้องรับหน้าที่ดูแลพ่อ และต้องชำระหนี้สินที่น้องชาย
หยิบยืมเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานกว่า 200,000 บาท
นายวินัยกล่าวว่า กรมการจัดหางานได้มอบเงิน 4 หมื่นบาท ช่วยเหลือครอบครัวนายนรากร
โดยเป็นเงินจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไทยไปต่างประเทศ และรัฐบาลอิสราเอลยังจะมอบเงินค่า
ใช้จ่ายในการไปทำงานคืนให้ 4.4 หมื่นบาท เนื่องจากนายวินัยทำงานไม่ครบ 1 ปี รวมทั้งจะมอบเงิน
ช่วยเหลือบุตรชาย อายุ 12 ปี อีกเดือนละ 10,000 บาท ไปจนถึงอายุ 21 ปี ส่งเรียนจนจบ
ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และดูแลบิดาของนายนรากรไปตลอดชีวิต นอกจากนี้นายจ้างและบริษัท
จัดหางานจะมอบเงินช่วยเหลืออีก 60,000 บาท