การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้อนรับการกลับมาของเส้นทางบินตรง (Direct Flight)ของสายการบิน Condor หลังจากหยุดทำการบินไปตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเที่ยวบินแรกของเส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ เที่ยวบินที่ DE2362 ออกเดินทางออกจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 11.25 น. โอกาสนี้ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท. และนางจิระวดี คุณทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรป ททท. ร่วมให้การต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินตรง (Direct Flight) ของสายการบิน Condor หลังจากวิกฤตโควิด-19 นับเป็นสัญญาณที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูและขยายฐานตลาด รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้บริการ 2 เส้นทางบิน สำหรับเที่ยวบินแรกของเส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ เที่ยวบินที่ DE2362 บินตรงจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 19.00 น. ความจุผู้โดยสาร จำนวน 310 ที่นั่ง ใช้เวลาเดินทางรวม 11 ชั่วโมง ก่อนเดินทางถึง
ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 11.25 น. และในเส้นทางบินตรง นครแฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ด้วยเที่ยวบินแรก DE2368 เดินทางออกจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 21 กันยายน 2567 เวลา 15.10 น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ประเทศไทย ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 08.00 น.
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ททท. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมต้อนรับและส่งมอบบรรยากาศแห่งความประทับใจทันทีที่เครื่องบินเดินทางถึงประเทศไทยด้วยการมอบของที่ระลึกแก่คณะนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงมิตรไมตรีและสร้างความเชื่อมั่นแบรนด์ Amazing Thailand ตอกย้ำให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยว
ปัจจุบันสายการบิน Condor เป็นสายการบินสัญชาติเยอรมันสายการบินเดียวที่เปิดให้บริการเส้นทางบินตรงสู่ประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป จะทำการบินตรงสู่ประเทศไทย ใน 2 จุดหมายปลายทางหลัก ได้แก่ เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการ 22 กันยายน 2567 เป็นต้นไป และ แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการ 21 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำการบินด้วยเครื่องบิน Airbus A330neo ความจุผู้โดยสาร 310 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นธุรกิจ (30 ที่นั่ง) ชั้นประหยัดพรีเมียม (64 ที่นั่ง) และชั้นประหยัด (216 ที่นั่ง)
ตลาดนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเป็นตลาดศักยภาพ มีอัตราการเติบโตที่มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตลาดระยะไกล มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่ 14 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และสูงเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคยุโรป รองจากรัสเซีย และสหราชอาณาจักร จากสถิติพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเยอรมนี ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 729,163 คน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 43,180 ล้านบาท และในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 กันยายน 2567 มีนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 569,277 คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยเดินทางมาประเทศไทย (Re-visit) ทั้งกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มครอบครัว และนิยมเดินทางด้วยตนเองสูงถึงร้อยละ 60 โดยจะนิยมเดินทางมาประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวของเยอรมนีมากที่สุด ได้แก่ เดือนมกราคม-มีนาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ชื่อนชอบท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเล สุขภาพและความงาม (Health & Wellness) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าจะจำนวนมีนักท่องเที่ยวเยอรมนีเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดปี 2567 กว่า 979,000 คน และสร้างรายได้รวม 65,000 ล้านบาท