“ปลัดพาณิชย์” เผย ไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น ได้คะแนนสูงขึ้น ในด้านความนวัตกรรม ย้ำเดินหน้าใช้กลยุทธ์การตลาดนำการผลิต ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์ พาประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม(จีไอไอ) ประจำปี 60 ครั้งที่ 10 จากองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ที่ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมในภาพรวมสูงขึ้น มีผลการจัดอันดับดีขึ้น ทั้งคะแนนและอันดับ โดยได้คะแนนในปีนี้ 37.57 คะแนน จากปีก่อนที่ 36.51 และได้เลื่อนอันดับจากที่ 52 ปีก่อน เป็น 51 ในปีนี้ จากทั้งหมด 127 ประเทศ และเป็นการเลื่อนอันดับดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ตั้งแต่ปี 58-60 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศ ในด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับประเทศ ภูมิภาคและโลก
“ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เนื่องจากมีปัจจัยผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยมีจำนวนการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน และมีจำนวนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม ตลอดจนเป็นประเทศอันดับที่ 5 ของโลกที่ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ และเป็นอันดับที่ 6 ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะใช้กลยุทธ์การตลาดนำการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้ง ส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ ความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และตราสินค้า เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทยต่อไปในอนาคต และก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป”
อย่างไรก็ดี สวิตเซอร์แลนด์ยังคงเป็นอันดับ 1 ด้านผู้นำนวัตกรรมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด 67.69 คะแนน รองลงมาคือ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สหรัฐ และ สหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ส่วนของโซนทวีปเอเชียและแปซิฟิกนั้น ประเทศที่มีนวัตกรรมค่อนข้างสูง ได้แก่ สิงคโปร์ ลำดับที่ 7 เกาหลีใต้ ลำดับที่ 11 ญี่ปุ่น ลำดับที่ 14 ฮ่องกง ลำดับที่ 16 นิวซีแลนด์ ลำดับที่ 21 สาธารณรัฐประชาชนจีน ลำดับที่ 22 และออสเตรเลีย ลำดับที่ 23 ส่วนในอาเซียน มีประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเพียงประเทศเดียว คือ สิงคโปร์ อันดับที่ 7 รองลงมา คือ มาเลเซีย อันดับที่ 37 และเวียดนาม อันดับที่ 47