เวลา 10.00 น.วันที่ 12 กันยายน 2567 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวนราว 800 คน ร่วมชุมนุมพร้อมชูป้ายเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งให้การช่วยเหลือ หลังจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำอย่างฮวบฮาบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเพียงแค่ช่วงระยะเวลาราว 10 วัน ราคาข้าวโพดฯลดลงเกือบ 20 บาทต่อถัง จากเดิมถังละ 110 บาท แต่ลดลงเหลือเพียงถังละ ราว 94 บาทหรือราว 6.33 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มยังจะลดลงอย่างต่อเนื่องอีก จึงเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เร่งหามาตรการให้การช่วยเหลือเกษตรโดยเร่งด่วน
จากนั้นนายถาวร จงวัฒน์ ตัวแทนเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.เพชรบูรณ์ ยังได้กล่าวปราศรัยโดยสรุปว่า สาเหตุที่ราคาก็พูดเลี้ยงสัตว์ปี 2567 ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพราะปุ๋ยเมล็ดพันธุ์ รวมถึงค่าแรง มีราคาที่สูงมาก และทางโรงงานอาหารสัตว์ยังนำเข้าข้าวสาลีและข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการใช้ข้าวโพดภายในประเทศลดลง ทางโรงงานอาหารสัตว์จึงปรับราคารับซื้อข้าวโพดลดลงต่อเนื่องมากกว่าสัปดาห์ โดยราคาลดลงแบบผิดปกติมากกว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม จนทำให้การซื้อขายในวันนี้ความชื้น 30% ราคาลดลงเหลือ 6.70 บาท และยังมีแนวโน้มราคาจะลดลงอีก
จากนั้นนายถาวร จงวัฒน์ และนางบานเย็น กองไตร 2 ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.เพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้นไม่ต่ำกว่า 30% ราคา 7.50 บาทต่อกิโลกรัม และขอให้ช่วยประกันราคารับซื้อด้วย โดยมีนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน พร้อมนายสืบพงศ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบูรณ์ รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวชี้แจงกับกลุ่มเกษตรกรฯโดยสรุปว่า ก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งจากทางพาณิชย์จังหวัดฯว่าเกษตรกรร้องเรียนเรื่องราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยกรมการภายในมิได้นิ่งนอนใจมีการติดตามราคาข้าวโพดซึ่งอ่อนตัวลง เมื่อวานนี้(10ก.ย.67)จึงพูดคุยกับทางโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ โดยเบื้องต้นทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์ จะคงราคารับซื้อในปัจจุบันไว้ก่อน โดยจะไม่มีการขยับหรือปรับลดราคาลงอีก ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าราคาจะไม่ตกต่ำไปกว่านี้
นอกจากนี้นายอุดมยังขอให้เกษตรกรชะลอการเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ไว้ก่อน แต่ทางเกษตรกรถึงกับตอบโต้สวนกลับโดยทันทีว่า ภายใน 3 เดือนนี้จะต้องเร่งเก็บ ไม่งั้นผลผลิตจะเกิดความเสียหาย จึงไม่สามารถจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้ พร้อมจี้ให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขปัญหา ก่อนที่เกษตรกรจะได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันเกษตรกรยังเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกราว 60 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งจังหวัดราว 600,000 ไร่ ที่รอการเก็บเกี่ยวอยู่