ผลงานช่วง 2 เดือนหลังเปิดคลินิกแก้หนี้ช่วยคนมีหนี้เอ็นพีแอลแล้วเกือบ 300 ราย วงเงิน 400-600 ล้านบาท ขณะที่ กระทรวงการคลัง ยังไม่ทบทวนการลดดอกเบี้ยให้กู้ของ นาโนไฟแนนซ์ และ พิโกไฟแนนซ์
นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ บสส. ในฐานะผู้รับบริหารหนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีหนี้ค้างชำระบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเกิน 3 เดือนก่อนวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้โครงการคลินิกแก้หนี้ ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า มีคนติดต่อเข้ามาจำนวนมากถึง 18,000 ราย แต่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการช่วยเหลือเพียงร้อยละ 40 และ เมื่อมีการเจรจาลงลึกถึงความสามารถในการชำระหนี้แล้วมียอดคนเข้าโครงการขณะนี้เพียง 200-300 ราย วงเงินหนี้เอ็นพีแอลรวม 400-600 ล้านบาท ส่วนเป้าปีนี้คาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ได้ 3,000 ราย โดยเฉลี่ยคนที่มีหนี้ค้างชำระต่อรายอยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาท
ส่วนการปรับเงื่อนไขโครงการฯ ยังไม่ได้มีการพิจารณาเพิ่ม ซึ่งในส่วนของการแก้หนี้เอ็นพีแอลในกลุ่มนอนแบงก์ คาดว่าปีนี้ จะออกกฎเกณฑ์ช่วยเหลือได้ หลังจากได้มีการแก้ไขกฎหมายบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้มีอำนาจบริหารจัดการขยายไปถึงหนี้ของกลุ่มนอนแบงก์ได้
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำ นักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ระบุว่ามาตรการคุมสินเชื่อบุคคล และ บัตรเครดิต ของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่กระทบกับผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ หรือ นาโนไฟแนนซ์ และ ผู้ประกอบการ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ พิโกไฟแนนซ์ ที่กระทรวงการคลังส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เนื่องจากเป็นคนละกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่วนเพดานอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมสุดสุดที่ร้อยละ36 ยังไม่มีการทบทวนปรับลดลง