เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 9 ก.ย. ที่ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. นำคณะ รอง ผบช.,ผบก.และข้าราชการตำรวจในสังกัด ตลอดจนชมรมแม่บ้านตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมสักการะหลวงพ่อพระพุทธเมตตา มหานคราภิรักษ์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกองบัญชาการ ศาลพระภูมิ ภายในบริเวณที่ทำการ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครบรอบปีที่ 4
โดยภายในงานมีการทำพิธีเจริญพุทธมนต์ ทำบุญตักบาตรถวายปัจจัย เครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้นได้พิธีมอบโล่เกียรติคุณให้กับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานดีเด่นด้านต่างๆ พร้อมร่วมกันมอบทุนการศึกษาแก่บุตรของข้าราชกาตำรวจในสังกัดจำนวน 243 ทุน
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่ตนได้เข้ามาขับเคลื่อนหน่วย ได้นำข้าราชการตำรวจในสังกัดป้องกันปราบปรามและสืบสวนสอบสวนจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาไปแล้วกว่า 3,600 ราย ยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดกว่า 3,484 ล้านบาท และได้ส่งมอบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดเพื่อเข้าสู่กระบวนการเฉลี่ยคืนแก่ผู้เสียหายไปแล้วจำนวนมาก อีกทั้งมีคดีที่ประชาชนให้ความสนใจอาทิปฏิบัติการ TRUST NO ONE จับกุมหัวหน้าแก๊งชาวจีนรวมทั้งผู้ร่วมขบวนการ หลอกลวงเหยื่อเทรดคริปโตในลักษณะไฮบริดสแกม ,ปฏิบัติการ Shutdown STINGRAY ทลายรังโจร สวมรอยธนาคารส่ง SMS หลอกดูดเงินเหยื่อ ,ปฏิบัติการทลายเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่กว่า 60 เว็บไซต์ รวมถึงการพนันออนไลน์รูปแบบต่างๆ รวมทั้ง ปฏิบัติการ ซิม สาย เสา ทลายเสาสถานีส่งสัญญาณและสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตตามแนวชายแดนของประเทศไทยที่ลักลอบส่งสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตัดวงจรแก๊ง คอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ อีกจำนวนมาก เช่น การจับกุมซิมผีและบัญชีม้า, การจับกุมผู้ลักลอบซื้อขายข้อมูลส่วนบุคล, การจับกุมอาวุธปืน, การจับกุมเครือข่ายค้ามนุษย์ การจับกุมเครือข่ายลวงเด็กถ่ายภาพและวิดีโอลามกอนาจาร เป็นต้น
สำหรับด้านการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน โดยเน้นการเตือนภัยไซเบอร์เพื่อสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพ และไม่ตกเป็นเหยื่อ ทั้งช่องทางโซเชียลมีเดีย โทรทัศน์ และ วิทยุ รวมทั้ง การร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือในการผลิตคอนเทนต์เตือนภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ยังน้อมนำพระราโชบายของโครงการจิตอาสาพระราชทาน มาบูรณาการร่วมกับนโยบายวัคซีนไซเบอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจัดข้าราชการตำรวจจิตอาสาออกไปบรรยายความรู้ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะสถานศึกษา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์แก่เยาวชนทั่วประเทศ และยังลงพื้นที่จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมให้ตำรวจไซเบอร์ทำความดีด้วยหัวใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความมุ่งหวังของประชาชน และมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามวิสัยทัศน์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ว่า “เป็นองค์กรสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างมืออาชีพ ที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา”