จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมีการถกเถียงว่า บุคคลธรรดาทั่วไปเข้าข่ายด้วยหรือไม่
นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล พ.ร.บ.ดังกล่าว กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้ทางบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักใช้ผู้มีชื่อเสียงในการโฆษณาผ่านทางโลกโซเซียลฯ จึงเน้นตรวจสอบที่บุคคลมีชื่อเสียงเพราะบุคคลเหล่านี้จะมีเยาวชนติดตามจำนวนมาก แต่ในบุคคลธรรมดานั้นหากโพสต์ในเชิงโฆษณา และมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ทางเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบว่าครบองค์ประกอบที่เข้าข่ายความผิดหรือไม่ เพราะตามมาตรา 32 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม หากเข้าข่ายก็จะมีโทษจำและปรับเช่นกันกับบุคคลมีชื่อเสียง ส่วนคนที่แจ้งเบาะแสเข้ามา ตามกฎหมายแล้วสามารถให้ค่าสินบนได้เมื่อคดีถึงที่สุดมีการเปรียบเทียบปรับแล้วก็จะมอบสินบนให้ 1 ใน 4 ของค่าเปรียบเทียบปรับ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ครบองค์ประกอบที่กระทำความผิดก็อาจจะมีการตักเตือนเท่านั้น
น.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า มาตรา 32 นั้น ระบุว่า ห้ามไม่ให้ใครโฆษณา เมื่อดู มาตรา 3 เรื่องการโฆษณา ระบุว่าไว้ การกระทําไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด ซึ่งการสื่อสารทางการตลาดนั้น ปัจจุบันมีหลายวิธี ทำให้เห็น ยิน ทราบ ข้อความ เป็นการโฆษณาอย่างหนึ่ง เพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อะไรก็ตามที่กระตุ้นให้ดื่ม ถือว่าเข้าข่ายการสื่อสารการตลาด
เมื่อถามว่า ในกรณีคนธรรมดาโพสต์ในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โดยไม่ได้รับเงินค่าจ้าง เช่น ไปดื่มในร้านอาหารกับเพื่อน แต่เห็นขวด เห็นแก้ว ผิดหรือไม่ น.ส.จันทิมา กล่าวว่า ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ แม้ว่า จะไม่ได้รับเงินให้โพสต์ แต่หากเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย บริบทสิ่งแวดล้อม เช่น ทำให้เห็นยี่ห้อ เห็นแก้วมีน้ำใสๆ ทำท่าทางเชิญให้ดื่ม กระตุ้นอารมณ์ให้อยากดื่ม ก็เข้าข่ายโฆษณา แม้ว่าจะไม่ได้เขียนเชิญชวนตรงๆว่า มาดื่มกันก็ถือเป็นการสื่อสารการตลาด เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัด ว่า การโฆษณาทั้งทางตรง และทางอ้อม
“ในที่โพสต์บริบท มีร้านเหล้า มีขวด มีแก้ว ก็ถือเป็นการเชิญชวนทั้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดอารมณ์ แม้ว่าจะตั้งการโพสต์เป็นส่วนตัว แต่ถามว่าเข้าข่ายลักษณะเชิญชวนมั้ย ก็ถือว่าเข้าข่าย ตามที่กฎหมายกำหนด หากมีคนมาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ก็จะต้องทำตามกฎหมาย และยิ่งเป็นการโพสต์แบบสาธารณะ ก็ยิ่งผิดชัดเจน เพราะช่องทางการสื่อสารเหล่านี้กระจายไปยังวงกว้างโดยไม่สามารถควบคุมได้” น.ส.จันทิมา กล่าว
เมื่อถามว่า หากนำฉลากออก หรือ ติดฉลากอื่นลงไปแทน จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ น.ส.จันทิมา กล่าวว่า กรณีแบบนี้ ยากในการตีความ และต้องดูบริบทอื่นประกอบกัน คือ ทำให้เห็น ยิน ทราบ ข้อความ หรือ มีการแสดงนัยยะ สัญลักษณ์ของการสินค้าเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ด้วยหรือไม่
“ความจริงกฎหมายนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องขู่ แต่ต้องสร้างการตระหนักรู้ ว่า การโฆษณามันร้ายแรง รุนแรง มันมีผลกระทบกับเยาวชนจริงๆ”น.ส.จันทิมา กล่าว