เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 07.00 น. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบหมายให้ นางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ ผอ.ปปส.ภ.1 เข้าร่วมในการปล่อยแถวปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย ครั้งที่ 2/67” ในเขตพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดเป้าหมายพระนครศรีอยุธยา โดยมี พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหา 83 ราย ยึดของกลางยาบ้า 2,894 เม็ด อาวุธปืน 6 กระบอก เครื่องกระสุน 68 นัด วัตถุระเบิด 1 ลูก และยึดทรัพย์มูลค่ารวม 1,098,780 บาท
ผอ.ปปส.ภ.1 กล่าวว่า การปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการ บูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในระยะเวลา 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการฯ กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ทุกจังหวัด แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และเด็ดขาด โดยมีเป้าหมายในการปฏิบัติการครั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งสิ้น107 เป้าหมาย ในพื้นที่ 16 อำเภอ มุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดจากผู้ค้ายาเสพติด ในหมู่บ้านชุมชน รวมถึงเพื่อเป็นการขยายผลไปสู่การจับกุมผู้ค้ารายสำคัญในพื้นที่ ตลอดจนการค้นหาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
ต่อมาในเวลา 09.00 น.นางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ ผอ.ปปส.ภ.1 พร้อมด้วย พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รองผู้บังคับการฯ และผู้กำกับการสถานีตำรวจ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมประชุมสรุปผลการปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย ครั้งที่ 2” โดยผลการปฏิบัติการเป้าหมายจำนวน 107 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 83 ราย ยึดของกลางยาบ้า 2,894 เม็ด อาวุธปืน 6 กระบอก เครื่องกระสุน 68 นัด วัตถุระเบิด 1 ลูก และยึดทรัพย์มูลค่ารวม 1,098,780 บาท
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย” ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน และประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าหมู่บ้าน/ชุมชน ของตนเองนั้นจะปลอดจากยาเสพติด รวมถึงการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรม ให้ผู้เสพสามารถกลับมาใช้ชีวิตในหมู่บ้าน/ชุมชน ได้อย่างมีคุณค่าและเป็นปกติสุข