วันที่ 18 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่ ห้องประชุมพระปรางค์สามยอด ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานการประชุมการแก้ปัญหาลิงสร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โดยมี นายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอชัยบาดาล คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเทพสตรี ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นจากตำบลบัวชุม ตำบลศิลาทิพย์ ตำบลซับตะเคียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือในครั้งนี้
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมหารือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับลิงในการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ของตำบลบัวชุม ตำบลศิลาทิพย์ และตำบลซับตะเคียน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมด มาทำการศึกษาวิจัยผลกระทบจากลิงเพื่อหาแนวทางการพัฒนาแผนการบริหารจัดการลิงในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ ในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยแหล่งน้ำแหล่งอาหาร จำนวนประชากรลิง และพฤติกรรมของลิง พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบจากลิงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ในการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และรักษาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ภายใต้แนวคิด “คน ลิง และป่า”
สำหรับ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ มีพื้นที่ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลซับตะเคียน ตำบลหนองยายโต๊ะ ตำบลบัวชุม และตำบลนาโสม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีเนื้อที่ผืนป่า ประมาณ 8,440 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาสมโภชน์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 ด้วยลักษณะที่เป็นเทือกเขาหินปูน สูงชันทอดตัวไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีถ้ำและหน้าผาจำนวนมากมีที่ราบในหุบเขา 2 แห่ง และที่ราบบนเขา 1 แห่ง อีกทั้งมีแหล่งน้ำซับกระจายอยู่ทั่วไป จึงถือเป็นป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญมากของเมืองไทย นอกจากนี้ ด้วยสภาพผืนป่าที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีพันธุ์ไม้มีหลากหลายชนิด ได้แก่ ประดู่ มะค่าโมง ปู่เจ้า ตะเคียนทอง ตะเคียนหมู ฯลฯ และมีพันธุ์ไม้ที่มีผลเป็นอาหารของสัตว์ ได้แก่ ไทร มะกอกป่า มะกัก กะเบากลัก มะซาง ฝรั่งป่า ยอป่า ปัจจุบันจึงมีบริการจัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พรรณพืชชนิดต่าง ๆ ในส่วนของสัตว์ป่าที่สำรวจพบมากกว่า 200 ชนิด เช่น เลียงผา หมีควาย ค่างแว่น ค้างคาว เม่น หมาจิ้งจอก เสือปลา เสือไฟ แมวป่า ไก่ฟ้า ไก่ป่า กระรอกหลากสี นกกินปลี นกปรอดหัวจุก นกตีทอง นกชนิดต่างๆ และลิง อีกมากมาย
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ