ครม.อนุมัติรถไฟไทย-จีนระยะทาง 253 กม.มูลค่า 1.79 แสนล้าน ใช้เงินกู้ทั้งโครงการ เท 425 ล้าน ดึงกรมทางหลวงถมคันดินเฟสแรกกดปุ่มคิกออฟ ต.ค.นี้ เปิดปี”64 คาดมีผู้โดยสาร 5,310 คน/วัน ค่าโดยสาร 535 บาท กรุงเทพฯ-โคราชแค่ 1 ชั่วโมง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อยากให้เรียกว่า โครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งรถไฟความเร็วสูงต้องสอดคล้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแผนการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไปสู่ประเทศอื่น ๆ
เส้นทาง กทม.-นครราชสีมา ถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรก ไทยเลือกวิธีจีทูจีกับจีน และไทยขอลงทุนเอง กลัวการผูกขาดสองข้างทาง โดยจะก่อสร้างทางรถไฟ แผนบริหารสินทรัพย์สองข้างทาง ใช้คนงานและบริษัทไทยในการก่อสร้าง บริษัทไทยจะได้ประโยชน์
“ประยุทธ์” ย้ำลงทุนเอง
“เส้นทางนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีสมองสร้างเฉพาะโคราช แต่เริ่มสร้างจุดที่สร้างได้ทันทีคือ สถานีกลางดง ไม่มีคนบุกรุก ไม่มีปัญหาเรื่องป่าเขา เป็นสัญลักษณ์ว่าสร้างแล้ว ปี 2564 เปิดได้ ระยะที่สอง โคราช-หนองคาย ใครที่มาวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่เคยคิดสั้นขนาดนั้น”
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พัฒนารถไฟความเร็วสูง กทม.-นครราชสีมา วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐรับภาระค่าดำเนินการ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบรายปี หรือคลังจัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ในประเทศ
ไม่ทำจะตกขบวน
“เหตุผลเพื่อปฏิรูปรถไฟไทยครั้งสำคัญ สำคัญต่อไทยในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ หากไม่ลงทุนจะเสียโอกาสเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลของจีนเชื่อมโยงยุโรป เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ด้วยเส้นทางรถไฟ 53,700 กม.”
และเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจไทยเข้าด้วยกัน ตั้งแต่อยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น หนองคาย และเชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาค จะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงจากไทยถึงจีน 1,800 กม. ในไทยเส้นทาง 647 กม. ลาว 440 กม. และจีน 777 กม.
จีนยอมลดค่าที่ปรึกษา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เงินลงทุนรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 179,412.21 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าเวนคืน 13,069 ล้านบาท งานโยธา 122,593.92 ล้านบาท
ระบบไฟฟ้า 34,078.38 ล้านบาท จัดหาตู้รถไฟ 4,480 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษา 5,190 ล้านบาท มี 6 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ซึ่งจะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี 3 สถานี ได้แก่ สระบุรี 90 ไร่ ปากช่อง 541 ไร่ นครราชสีมา 272 ไร่ ศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเชียงรากน้อย
ต.ค.นี้เริ่มลงเข็ม 3.5 กม.
ส่วนการก่อสร้างแบ่ง 4 ตอน ได้แก่ 1.สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟฯมอบให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ก่อสร้าง เนื่องจากเป็นงานถมคันดินในเดือน ต.ค.นี้ หลังเซ็นสัญญาควบคุมงานแล้ว เพื่อให้เริ่มโครงการได้รวดเร็ว 2.ปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กม. 3.ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และ 4.ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย 119.5 กม. จีนจะใช้เวลาออกแบบ 8 เดือน และทยอยเปิดประมูลต่อไป คาดว่าภายในปี 2560 จะเปิดประมูลตอน 2 ได้
สำหรับงบประมาณก่อสร้างจะใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาให้ ยกเว้นค่าเวนคืนที่ดินจะใช้เงินจากงบประมาณ แผนการใช้จ่ายเงินจะสอดคล้องกับระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยปี 2560 จำนวน 2,648 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 43,097 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 62,216 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 59,702 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 12,017 ล้านบาท
เปิดปี”64 ค่าโดยสาร 535 บาท
“โครงการจะเริ่มต้นปีนี้ เปิดบริการปี”64 มีผู้โดยสาร 5,310 คน/เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นเป็น 26,830 คน/เที่ยว/วัน ในปี”94 ใช้ระบบรถไฟฟ้า มี 6 ขบวน ขบวนละ 600 ที่นั่ง กำลังเคลื่อนตัว 5,200 วัตต์ ความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที ออกทุก 90 นาที อัตราค่าโดยสารเริ่มที่ 80 บาท กิโลเมตรต่อไป 1.80 บาท จากกรุงเทพฯ-อยุธยา 195 บาท กรุงเทพฯ-สระบุรี 278 บาท กรุงเทพฯ-ปากช่อง 393 บาท และกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 535 บาท”
มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ที่ 8.56% ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางกว้าง จากการขยายตัวเมือง พัฒนาเชิงพาณิชย์ ระบบฟีดเดอร์ ธุรกิจ SMEs อยู่ที่ 11.68% หากกรุงเทพฯ-หนองคาย อยู่ที่ 11.45% และผลตอบแทนทางการเงิน 2.53%