นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และ สินเชื่อ SMEs Transformation Loan เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย” ที่ห้องประชุมพนมดงรัก โรงแรมทองธารินทร์ จ.สุรินทร์ เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์, นายชัยยุทธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้จัดการเขตฝ่ายกิจการสาขา 1 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.), นายศุภณัฐ ศิริวงศ์พานิช ผู้จัดการอาวุโส ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) สาขาสุรินทร์ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 250 คน
นายชัยยุทธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้จัดการเขตฯ ธพว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ดำเนินตามและสานต่อนโยบายของรัฐบาล ด้านส่งเสริมองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการบริหารจัดการ และสร้างโอกาสในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกร ก้าวสู่มาตรฐานสากล SMEs ไทยแลนด์ 4.0 สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ที่ต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเสมอภาค และเท่าเทียมทางสังคม จีงเปิดแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งครั้งนี้ผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตร ทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มายังจังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในจังหวัดเป้าหมายที่ ธพว. เล็งเห็นว่าต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ด้าน นายอรรถพร สิงหวิชัย กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์พื้นฐานเป็นเมืองเกษตร ดังนั้นการจะให้ปรับตัวเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องใช้เกษตรสมัยใหม่ที่ไม่ใช้สารเคมีเข้ามาช่วย เพราะอดีตที่ผ่านมามีการใช้สารเคมีค่อนข้างมากทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นจึงต้องลดปริมาณการใช้สารเคมีลงมา ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เช่นเดียวกับ อำเภอกาบเชิง หนึ่งในพื้นที่ของจังหวัด ที่ยึดปรัญชาเศรษฐกิจเกษตรพอเพียงจนสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรได้อย่างหลากหลายและปราศจากสารเคมี โดยไม่นานมานี้ตนก็ได้ไปเปิดงานทุเรียนกาบเชิงมาทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับพื้นที่ จังหวัด และประเทศ
ผู้ว่าฯ สุรินทร์ ยังกำชับถึงเกษตรกรเมืองช้างว่า การมีแหล่งเงินทุนถือว่าเป็นเรื่องดี แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องมีวินัยทางการเงิน และมีระเบียบแบบแผน อย่ากู้เงินเกินความจำเป็น และชำระหนี้ให้ตรงตามเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เสียเครดิต ยึดปรัญชาเศรษฐกิจเกษตรพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 กินอยู่อย่างพอเพียงเพื่อสร้างความสุขในชีวิตแล้วจึงขยับขยายและพัฒนาต่อไป
ขณะที่ นายสมบัติ สมบูรณ์เทอดธนา ประธานหอการค้า จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า การมาจัดโครงการของ SMEs Bank ที่จังหวัดสุรินทร์ครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง และมีช่องทางขยายธุรกิจ เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้เกิดการพัฒนา และต่อยอดของธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมาก
ทั้งนี้บริการของ SME Development Bank เพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0 สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และระดับประเทศ นั้น ประกอบด้วย 1.กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ใน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย เป็นต้น, 2.สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% คงที 3 ปีแรก ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจใช้บริการเงินกู้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และ สินเชื่อ SMEs Transformation Loan สามารถติอต่อยื่นคำขอกู้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357 หรือติดตามข่าวสารได้ทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank
CR : ณัฐพัชร์ บุญมี ผู้สื่อข่าวประจำ จังหวัดสุรินทร์