จังหวัดลพบุรี โดย เทศบาลตำบลกกโก จัดโครงการ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 เพื่อเป็นการส่งเสริมสืบสานและอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรม ของท้องถิ่น ที่มีมาแต่โบราณ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ในพื้นที่ได้ร่วมกัน ส่งเสริม ทํานุบำรุง พระพุทธศาสนา เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาชน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชนและประชาชนจะได้ร่วมกันทำบุญ ปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน
โดยปีนี้ ได้รับเกียรติจาก นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ ในงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 ณ วัดดงน้อย ตำบลกกโก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายวชิระ เกตุพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นผู้กล่าวต้อนรับ นายก่อภณ ฮุ้นสกุล นายกเทศมนตรีตำบลกกโก เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมี พระครูจันทสิริธร เจ้าอาวาสวัดดงน้อย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
โดย ได้ตั้งขบวนแห่เทียนพรรษา บริเวณหน้าห้างไทวัสดุ สาขาลพบุรี ประธานในพิธี นายสำรวย นักการเรียน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายอำเภอเมืองลพบุรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี วัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี/นายกเทศมนตรีตำบลกกโก หัวหน้าส่วนราชการ ทีมดารานักแสดง และแขกผู้มีเกียรติ ขึ้นรถรางร่วมในขบวนแห่เทียนพรรษา เคลื่อนขบวนแห่เทียนพรรษาออกจากไทวัสดุ สาขาลพบุรี ไปยังวัดดงน้อย ขบวนแห่เทียนพรรษา ถึง วัดดงน้อย ชมการแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงรำมอญ จากยุวชนไทยรามัญ การแสดงฟ้อนไทพวน จากไทพวนถนนใหญ่ การแสดงรำวงลาวเวียงป่าตาล จากลาวเวียงป่าตาล การแสดงรำสีทันดร จากลาวไต้ การแสดงระบำศรีกกโก จากประชาชนตำบลกกโก และเป็นพิธีเปิดงาน การมอบใบประกาศนีบัตรให้แก่หน่วยงานที่เข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษา หลังจากนั้นเป็นพิธีถวายเทียนพรรษา วัดดงน้อย วัดโคกม่วง วัดบ้านไร่ วัดบ้านใหม่ วัดกกโก วัดใหม่จำปาทอง วัดขุนนวน วัดป่าสัก และ วัดโป่งน้อย ตำบลกกโก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
นอกจากนี้ภายในงาน ยังจัดให้มี ตลาดวัฒนธรรมตำบลกกโก การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุน และชิมอาหารพื้นบ้าน ชมการแสดงของกลุ่มชาติพันธ์ และความตระการตาของงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ที่มาที่เดียว ได้ทำบุญถึง 9 วัด เพื่อร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแห่เทียนพรรษาไปพร้อมๆ กันด้วย
ทั้งนี้ ประเพณีแห่เทียนพรรษา เกิดจากความจำเป็นที่ว่า…สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อพระภิกษุอยู่รวมกันมากๆ เพื่อปฏิบัติกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ตอนเช้ามืดและพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย ฯลฯ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน ดังนั้น ชาวบ้านในอดีต จึงได้ร่วมกันนำเทียนมาถวาย ซึ่งช่วงต้นก็คงจะถวายเป็นเทียนเล็กๆธรรมดา ครั้นต่อมาก็ได้มีการมัดเทียนเล็กๆ มารวมกันเป็นต้น คล้ายต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่ แล้วติดกับฐาน ที่เรียกกันว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา และก็วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนเป็นเทียนพรรษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
กล่าวกันว่า เทียนพรรษา เริ่มมาจากผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือวัว ที่เป็นพาหนะของพระอิศวร เมื่อวัวตาย ก็จะเอาไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพ แต่ชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย โดยเอามาจากรังผึ้งร้าง ต้มเอาขี้ผึ้งมาฟั่นเป็นเทียนเล็กๆ เพื่อจุดบูชาพระ และได้ยึดเป็นประเพณีที่จะนำเทียนไปถวายพระภิกษุในช่วงเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดดุจดังแสงสว่างของดวงเทียน
สำหรับปัจจุบัน ได้มีพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่ถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันสำรวจพฤติกรรมของตนที่ผ่านมา และตั้งจิตอธิษฐานที่จะลด ละ เลิกสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ เช่น เลิกเหล้า อดบุหรี่ การพูดจาหยาบคาย ฯลฯ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน โดยใช้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นในการกระทำดี ซึ่งก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอสำหรับความตั้งใจสร้างเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้น อันมีอานิสงส์ทำให้ตนเอง ครอบครัวและสังคมเกิดความสุข สงบร่มเย็น
………………………………………………………….
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
สมชาย เกตุฉาย
ศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ