แถลงการณ์กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง, ตะวันตก, ตะวันออก และ กทม. เหตุผลที่คัดค้าน วอล์คเอาท์ ไม่สนับสนุนเวทีการรับฟังความคิดเห็น พร้อมขอให้หยุดกระบวนการทั้งหมดและเริ่มต้นใหม่ให้สมดุล
วันที่ 18 มิ.ย. 60 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง, ตะวันตก, ตะวันออก และ กทม. ประกาศยืนยันการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มการร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก และเขี่ยการมีส่วนร่วมของประชาชนทิ้ง
นอกจากนี้ กระบวนการแก้กฎหมายยังไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างไร จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ดังนี้
1.การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการ “ประชาชนได้ประโยชน์” เป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน
2.“ยกเลิกการร่วมจ่าย” เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง
3.“ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์” ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้ สปสช. จัดซื้อยาและอุปกรณ์เองได้ รัฐบาลต้องเพิ่มงบอีกปีละ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ? หรือนี่คือหลุมพรางในการให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ทั้งที่ในปัจจุบัน สปสช. ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท
4.“เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม” ต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จากการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล
5.การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันควร “เพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น” และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนหน่วยรับเรื่องเรียนตามมาตรา 50(5) ทั้งในหน่วยบริการและนอกหน่วยบริการที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แก้ กม.บัตรทอง แก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า
ข้อมูล : Sanook! Money