“…เผยที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจำกัดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะเดียวกันกลับเปิดช่องทางเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาทำการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. และปล่อยให้บริษัทเอกชนเหล่านี้เข้ามาหาผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ โดยการทำสัญญาระยะยาวผูกขาดการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. หาผลประโยชน์กับการสำรองไฟฟ้า ตลอดนับสิบปีที่ผ่านมาแม้ กฟผ.ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (ต้นทุน) เท่ากับยินยอมให้บริษัทเอกชนหรือกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน …”
16 กรกฎาคม 2567 นายวัชระ เพชรทอง เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ตนยื่นหนังสือถึง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผ่านนายชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเอกชนและปัญหาค่าไฟฟ้ามีราคาแพงทำให้ประชาชนเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน ว่า ตนในฐานะอดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับค่าไฟฟ้ามีราคาแพง ดังนั้นขอสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเอกชนที่ประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนี้
- กฟผ.จ่ายค่าพร้อมจ่ายให้กับบริษัทไฟฟ้าเอกชนบริษัทใดบ้าง ปีละเท่าไหร่ขอทราบรายละเอียดนับตั้งแต่มีการจ่ายเงิน
- กฟผ.จ่ายค่าผลิตกระแสไฟฟ้าให้เอกชนบริษัทใดบ้าง ปีละเท่าไหร่นับแต่มีการจ่ายเงิน
- กฟผ.ได้เคยจ่ายเงินค่าสายส่งไฟฟ้าหรือเงินลงทุนใด ๆ ในการก่อสร้างบริษัทผลิตไฟฟ้าของเอกชน บริษัทใดบ้าง เมื่อไร ตามคำสั่งของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดใด เป็นเงินเท่าไร และได้รับชำระคืนโดยวิธีการใด ครบถ้วนแล้วหรือไม่ เมื่อใด และเงินลงทุนดังกล่าวกฟผ.ไปเก็บคืนจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศหรือไม่ ผ่านค่า Ft. ใช่หรือไม่ หรือวิธีการใด
- ปัญหาค่าไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้นทุกวัน ประชาชนเดือดร้อนไปทั้งแผ่นดิน กฟผ.มีนโยบายจะลดค่าไฟฟ้าอย่างไร
- สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สภฟ.) มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อเท็จจริงและคัดค้านการผลักภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยมีสาระสำคัญคือ ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจำกัดการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะเดียวกันกลับเปิดช่องทางเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาทำการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. และปล่อยให้บริษัทเอกชนเหล่านี้เข้ามาหาผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ โดยการทำสัญญาระยะยาวผูกขาดการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. หาผลประโยชน์กับการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่มีการสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็นอยู่ที่ระดับ 35-50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ขณะที่อัตราการสำรองไฟฟ้าตามเกณฑ์เดิมอยู่ที่ 15% การสำรองไฟฟ้ายิ่งสูงมากส่งผลกระทบในเชิงลบเป็นต้นทุนแฝงที่เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือประชาชน
ดังนั้นจึงถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ที่ประชาชนทุกข์ทนกับภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงขึ้น ตลอดนับสิบปีที่ผ่านมาแม้ กฟผ.ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (ต้นทุน) เท่ากับยินยอมให้บริษัทเอกชนหรือกลุ่มทุนใหญ่เข้ามาขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน
ทั้งนี้การที่ สภฟ. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เกิดจากที่ประชุม สภฟ. มีมติร่วมกันเห็นว่า รัฐบาลโดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายมีพฤติการณ์ส่อทุจริตเชิงนโยบายอย่างชัดเจน ส่งผลกระทบกับประชาชนเดือดร้อนทั้งแผ่นดินต้องเสียเงินค่าไฟฟ้ามีราคาแพงเกินจริง ชาวบ้านไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ถูกยกมิเตอร์ นักเรียนต้องจุดเทียนอ่านหนังสือ เกิดไฟไหม้บ้านหรือผูกคอตายทั้งพ่อทั้งลูกเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ นับเป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ปัจจุบันประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงอย่างไม่มีเหตุผลเป็นการขูดรีดประชาชนเปรียบเสมือนการปล้นประชาชนผ่านมิเตอร์ไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งแตกต่างกับสมัยที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้าเอกชนอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นขอให้ กฟผ. ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยกับสาธารณชนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
นายวัชระกล่าวอีกว่า เรื่องค่าไฟฟ้ามีราคาแพงเกินจริง ตนได้ยื่นหนังสือเรื่องร้องเรียนกับสำนักงาน ป.ป.ช. เลขรับที่ 21559 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ขอให้ตั้งคณะไต่สวนกรณียุบโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติที่ จ.สุราษฎร์ธานี ส่อทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่ และกรณีทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เหลือกำลังการผลิต 17% ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.56 ส่อทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่ และค่ากระแสไฟฟ้ามีราคาสูงประชาชนเดือดร้อนทุกครัวเรือนทั้งประเทศเป็นการส่อทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือไม่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป