วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 นายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท มอบหมายให้ ดร.กัลลิกา ตาระกา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ นางสาวจุฑามาส จงศิริ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองนนทบุรี และกลุ่มภูมิปัญญาและนวัตกรรมด้านการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการจัดเวทีชุมชนถอดบทเรียนภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรที่มีศักยภาพเสริมสร้างเป็นระบบมรดกทางการเกษตร มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องทางการเกษตร และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) : สวนยกร่อง จ.นนทบุรี ณ วัดบางนา ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย เกษตรกร และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีชุมชนครั้งนี้ ก็เพื่อคัดกรองภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร และพื้นที่เกษตรที่มีศักยภาพ ตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านอาหาร และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร 3) ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร 4) วัฒนธรรม ระบบค่านิยม และองค์กรทางสังคม และ 5) ภูมิทัศน์ของพื้นที่ เพื่อพัฒนาสู่การจัดตั้งเป็นพื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage Systems : GIAHS) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ซึ่งในกิจกรรมนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยให้ได้การรับรองเป็นระบบมรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของประเทศไทย ได้มาเป็นวิทยากรให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ ” ระบบมรดกทางการเกษตรโลก และระบบมรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของไทย : ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง”
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกษตรกรในชุมชน เกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบมรดกด้านการเกษตรโลก รวมทั้งได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภูมิปัญญาการทำสวนยกร่อง และข้อมูลต่างๆของพื้นที่ ที่จะนำไปสู่การต่อยอดเสริมสร้างพื้นที่การทำสวนยกร่องนี้สู่ระบบมรดกทางการเกษตรต่อไป
ภาพ/ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท