จากกรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 รายชื่อ และบัญชีสำรอง 99 รายชื่อ ซึ่งปรากฎว่ามีรายชื่อ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้สมัคร สว.จากกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ที่ได้รับการเลื่อนรายชื่อจากบัญชีสำรองขึ้นมาเป็น สว. ตัวจริง 1 ใน 200 คนนั้น
เนื่องจากมีรายงานว่า น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ถูก กกต. ระงับสิทธิหลังจากพบว่าเป็นที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง ทำให้ต้องเลื่อน ว่าที่ พ.ต.กรพด จากบัญชีสำรองขึ้นมาแทน
ต่อมา เมื่อมีการเผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือก สว. พบว่าชื่อของ น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ผู้มีคะแนนเป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่ม 18 หายไป โดยก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เธอที่ปรึกษานายก อบจ.อ่างทอง ซึ่งศาลฎีกาวางแนวเอาไว้ว่าตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นผู้บริหารท้องถิ่น จึงถูก กกต. แจกใบส้ม
สำหรับบุคคลที่ได้เลื่อนขึ้นมาเป็น สว. ตัวจริงคือ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ประธานรุ่น 5 หลักสูตร “พัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร” (พคบ.) ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีคะแนนมาเป็นลำดับที่ 11 ของกลุ่ม 18
ส่วนการประกาศบัญชีสำรอง 99 คน จะขัดกับกฎหมายที่ให้ กกต. ประกาศรายชื่อ สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน หรือไม่นั้น นายแสวงตอบว่า “ก็ทำไปแล้ว” โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 3 ข้อ 154/1 ให้กกต .สามารถเลื่อนบัญชีสำรองขึ้นมาแทนได้
นายแสวงชี้แจงด้วยว่า เหตุที่ กกต. รับรอง สว. ครบ 200 คน “เพื่อให้เปิดสภาได้” โดยให้ สว. เข้ารับหนังสือที่สำนักงาน กกต. ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ค. เวลา 08.30-16.30 น.
ด้านสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่พร้อมรับการแสดงตนของ สว. ชุดใหม่ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ก่อน โดยใช้ห้องริมน้ำ 1 ชั้น 1 อาคารวุฒิสภา เพื่อรับเอกสารและคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ โดยแจ้งให้บรรดา สว. เข้าแสดงตนได้ตั้งแต่วันที่ 11, 12 และ 15 ก.ค. เวลา 08.30-16.30 น. จากนั้นจะมีการเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรกต่อไป
การเดินหน้ารับรอง สว. แบบยกชุด เกิดขึ้นท่ามกลางคำขู่จากอดีตผู้สมัครบางส่วนว่าจะฟ้องดำเนินคดีกับ 7 กกต. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. กำหนดให้ กกต. ประกาศผลการเลือก สว. ถ้าเห็นว่า “การเลือกเป็นไปโดยถูกต้อง สุจริต และเที่ยงธรรม” เมื่อได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ ให้รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องประกาศรับรอง สว. ภายในเมื่อใด
ถึงแม้มีสถานะ สว. แล้ว แต่ใช่ว่าทุกคนที่ กกต. ประกาศรับรองไปก่อน จะรอดพ้นจากการถูกตามสอยในภายหลัง โดย กกต. มีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานส่งเรื่องให้ 2 ศาลพิจารณาต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 และ พ.ร.ป.สว. มาตรา 62 และมาตรา 63
กรณี “ความปรากฏ” ต่อ กกต. ว่า สว. คนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้โดยไม่ชักช้า (มาตรา 63)
แต่ถ้าเป็นกรณี “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือก หรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่น อันทําให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต. ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น (มาตรา 62)
สว. ชุดที่ 13 มาจากกระบวนการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และเลือกไขว้กลุ่มอาชีพ โดยไต่ระดับ 3 ชั้น จากอำเภอ สู่จังหวัด และจบที่ระดับประเทศ ทว่าภายหลังกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นลงในช่วงรุ่งสางของวันที่ 27 มิ.ย. ก็มีสารพัดเรื่องร้องเรียนตามมา โดยมีผู้ร้องไปยังสำนักงาน กกต. ศาลปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป บางคนเสนอให้นับคะแนนใหม่ ขณะที่บางคนเรียกร้องให้ “ล้มกระดาน” ทำให้การเลือกเป็นโมฆะ
แม้แต่ สว. “ชุดเฉพาะกาล” บางส่วนก็ยังวิจารณ์ระบบ และเปิดหลักฐานกลางสภาว่ามีการ “ฮั้ว” ก่อนมีมติเมื่อ 8 ก.ค. ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก สว. อย่างไรก็ตามเมื่อ กกต. รับรอง สว. ชุดใหม่แล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ. กล่าวว่า “ภารกิจเราก็เสร็จสิ้นเท่านั้นเอง”
การสิ้นสุดสมาชิกภาพ สว. ทั้ง 250 คน ส่งผลให้พวกเขาต้องพ้นจากทุกตำแหน่งในวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่ง กมธ. ไปด้วย