ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคม จ.เพชรบูรณ์นางพรทิพย์ เจริญจิต ประธานชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่ม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชมรมฯ มีนายเกรียงศักดิ์ อู่สุวรรณ นายบุญช่วย ทองเถาว์ รองประธานชมรม นางณัฎฐนิช สงเคราะห์ธรรม เลขานุการขมรม พร้อมด้วยคณะกรรมการ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมในการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชมรมเพิ่มเติมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานของชมรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ การดำเนินงานของชมรมที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566-ปัจจุบันทั้งกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายคน 3 วัย บ้านปลาฝาในวันพ่อ วันแม่ วันขึ้นปีใหม่และสงกรานต์ กิจกรรมร่วมกับงานประเพณีท้องถิ่นและส่วนราชการทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการจัดโครงการ จัดตั้งชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่มในสถานศึกษาในพื้นที่เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนมีความรัก หวงแหนและสืบสาน ประเพณีของดีไทหล่ม โดยชมรมจัดหาวิทยากรที่มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมท้องถิ่นถ่ายทอดให้เยาวชนที่เข้าร่วมกับชมรม รวมทั้งสร้างให้มีกิจกรรม อาทิ การละเล่น การแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่ภายในชุมชนและนอกชุมชนในวาระโอกาสต่างๆ จัดให้มีเยาวชนส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้ทั้งทางด้านวิชาการและการได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษารากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพเยาวชนส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นผู้ถ่ายทอดและนำเสนอมุมมองผ่านทางสื่อใหม่ผ่านแพตฟอร์มต่างๆ และจัดให้มีตลาดนัดวัฒนธรรมท้องถิ่นในเทศกาลงานต่างๆในพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่ในการโชว์ของดีไทหล่มและกิจกรรมต่างๆ ของชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่มในสถานศึกษา โดยประธานจะได้หารือกับสถานศึกษาในการร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมของชมรม นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการจัดหารายได้ของชมรมและรายงานการเงินของชมรม
สำหรับ ชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่ม เกิดจากแนวคิดของคนในพื้นที่อำเภอหล่มเก่า ซึ่งประกอบไปด้วยพ่อค้า คหบดี ข้าราชการบำนาญและภาคประชาชน เครือข่ายภาคธุรกิจเล็งเห็นว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกละเลยและมีการถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่น้อย เช่น การแต่งกาย ภาษาพูด รวมทั้งประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงาม ดังนั้นจึงก่อให้เกิดชมรมคนรักษ์ประเพณีของดีไทหล่มเพื่อส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นและทั่วไปเห็นคุณค่า มีความภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีของท้องถิ่นให้เยาวชนรุ่นหลังได้ดำรงรักษาสืบทอดต่อไป รวมทั้งฟื้นฟูวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญา ศิลปะการแสดง ฯลฯ ที่ใก้ลสูญหายหรือสูญหายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตเหมือนเดิม และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการส่งเสริม สนับสนุนและรักษาต่อยอดวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลาย อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนและ ส่งเสริมความรัก ความสามัคคีในชุมชน