เนื่องด้วย ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แจ้งเตือนการระบาดของหนอนกระทู้ทำลายไร่มันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา และอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี นั้น ล่าสุดพบว่า มีการตรวจพบการระบาดแล้วในพื้นที่ อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท สำนักงานเกษตรอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้ว
นายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า “จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หนอนกระทู้ในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 14 และ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา พบหนอนกระทู้เริ่มทำลายต้นมันสำปะหลังและพบร่องรอยของหนอนกระทู้ในระยะไข่อยู่มากโดยเฉพาะมันสำปะหลังอายุ ไม่เกิน 2 เดือน โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบกลุ่มไข่หนอนกระทู้และตัวหนอน ให้จับทำลาย หรือใช้สารเคมีตามคำแนะนำ เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดในพื้นที่ รวมทั้งให้ช่วยประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงให้ทราบสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าหนอนกระทู้ที่กำลังระบาดส่วนใหญ่เป็นหนอนกระทู้หอม ซึ่งพบว่ามีการเข้าทำลายมันสำปะหลังทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะตั้งแต่ระยะเริ่มปลูกจนถึงช่วงที่มันสำปะหลังมีอายุ 2 เดือน และพื้นที่ที่พบการระบาดมักเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกผักมาก่อน ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าดักแด้ของหนอนกระทู้หอมที่อยู่ในดินเติบโตออกมาเป็นผีเสื้อและวางไข่บนใบพืชที่ปลูกบริเวณนั้น เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนก็จะเริ่มทำลายพืชทันที โดยวงจรชีวิตของหนอนกระทู้หอม ใช้เวลา 30 – 35 วัน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลเข้ม ขนาดประมาณ 2 ซ.ม. มีอายุอยู่ได้ 4 – 10 วัน ตัวเมีย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ราว 200 ฟอง โดยมักวางไข่เป็นกลุ่ม ไข่ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน เมื่อฟักออกมาเป็นหนอนจะมีหลายสี ขึ้นอยู่กับพืชอาหารและระยะลอกคราบ เช่น เขียวอ่อน เทาปนดำ น้ำตาลอ่อน และน้ำตาลดำ ลักษณะการทำลาย สังเกตได้จากร่องรอยเว้าแหว่งที่หนอนกัดกินใบ ก้าน รวมถึงท่อนพันธุ์ของมันสำปะหลังด้วย วิธีการป้องกันกำจัด เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรไถพรวนและตากดินก่อนปลูก เพื่อกำจัดดักแด้ที่อยู่ในดิน เมื่อเพาะปลูกแล้วให้หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบกลุ่มไข่และตัวหนอนให้เก็บทำลายทันที หากพบการทำลายจำนวนมากให้พ่นสารกำจัดแมลงตามคำแนะนำ เช่น คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี (กลุ่ม 13) อัตรา 40 – 50 มิลลิลิตร หรืออินดอกซาคาร์บ 15% อีซี (กลุ่ม 22) อัตรา 30 มิลลิลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี (กลุ่ม 6) อัตรา 30 – 40 มิลลิลิตร หรืออีมาเมกตินเบนโซเอต 5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม (กลุ่ม 6) หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี (กลุ่ม 28) อัตรา 30 มิลลิลิตร โดยเลือกใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นห่างกันทุก 5 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง และให้เปลี่ยนกลุ่มสารโดยไม่พ่นซ้ำกลุ่มเดิมในรอบ 30 วัน เพื่อป้องกันการดื้อยา
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้เน้นย้ำว่า “ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกพื้นที่เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง”
ภาพ/ข่าว : กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท