วันที่ 26 มิถุนายน 2567เวลา 13.30 น. ที่ วัดนิคมสามัคคีชัย (บ่อ 6) ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นางนุสรา วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ถูกคุมความประพฤติ “ค่ายรู้….รัก” (Sense and Love) โดยมีนายปรัญชา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นางละอองทิพย์ ปนัดสาโก ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายพิษณุ ประภาธนานันท์ ปลัดจังหวัดลพบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครคุมประพฤติ เข้าร่วมในพิธี ในการนี้ พระภาวนา วชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดนิคมสามัคคีชัย (บ่อ6) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นางนุสรา วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า การให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายต้องจับมือทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงจัง โดยยึดหลักการตามนโยบายของรัฐบาล “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อให้ผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข
โดยกรมคุมประพฤติมีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 166 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่มีผลการจำแนกอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงครอบครัวไม่สามารถดูแลให้เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ และมีอาชีพไม่มั่นคงให้เข้ารับ
การแก้ไขฟื้นฟูในโครงการพัฒนาพฤตินิสัยฯ โดยมอบหมายให้สำนักงานคุมประพฤติ จำนวน 30 แห่ง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ รวม 30 รุ่น มีเป้าหมายทั้งสิ้น 1,500 คน โดยสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดลพบุรีจัดโครงการฯ ระหว่างวันที่ 19 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2567 ณ วัดนิคมสามัคคีชัย(บ่อ 6) ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง ลพบุรี จังหวัดลพบุรี มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 51 คน รูปแบบการอบรม
ใช้กระบวนการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) กระบวนการชุมชนบำบัด การพัฒนา ทักษะอาชีพ การให้ความรู้ควบคู่กับหลักธรรมมะ โดยพระภาวนา วชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดนิคมสามัคคีชัย และคณะ พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและภายหลังการจัดโครงการเสร็จสิ้น ยังมีกระบวนการดูแลต่อเนื่อง ด้วยการติดตามตรวจปัสสาวะทุก 5 วัน ในช่วง 3 เดือนแรก ให้การสงเคราะห์ระหว่างการคุมความ
ประพฤติ และติดตามช่วยเหลือภายหลังพ้นการคุมประพฤติ 1 ปี โดยมีเป้าหมายที่ท้าทาย คือ มีผู้ผ่านการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และกระทำผิดซ้ำไม่เกินร้อยละ 5 หลังออกจากค่าย 1 ปี ซึ่งทุกกระบวนการเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู Drip Model “สานพลัง สร้างสังคมปลอดภัย” เพื่อแก้ไขฟื้นฟูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติโดยเฉพาะคดียาเสพติด ให้เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความสุขต่อไป
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการ ศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ