วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2567 เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมเทาทอง 1 ชั้น 2 ศูนย์ปฏิบัติการโรงแรมมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งในครั้งนี้มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3/2567 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันพิจารณาปัญหาในประเด็นต่างๆ รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตามโครงสร้างของ (ทปอ.) อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่เป็นสมาชิก (ทปอ.) ในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย/อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดการประชุมฯ และดำเนินการประชุมตามวาระการประชุมฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก ผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวต้อนรับผู้ที่เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งแนะนำคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยบูรพา
โดยภายในงานประชุมฯ ได้มีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา คือ กิน-อยู่-ดี แพลตฟอร์ม ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ การประดิษฐ์อุปกรณ์กระดกข้อเท้าและยกขาอัตโนมัติ (An automatic ankle pumping and leg lifting device) ผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นงนุช ล่วงพ้น,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ เกียรติกูลานุสรณ์ และ ดร.กุลธิดา กล้ารอด คณะสหเวชศาสตร์
นอกจากนี้ได้มีการนำเสนอผลงานและผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและงานวิจัยสู่ผลงานนวัตกรรมใหม่แห่งภาคตะวันออก อาทิ การออกแบบสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ยางพาราด้วยนวัตกรรม delayed-action gelling agent โดย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา SUWAN Spray Betapinene คือ สเปรย์ที่ใช้สารสกัดจากมะกรูด ลดปวดอักเสบ เป็นรายแรกของประเทศไทยที่มีมาตรฐานการผลิต GMP และมีนวัตกรรมอนุสิทธิบัตรผลงานวิจัยรองรับ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันของกองบริหารการวิจัยและนวัตกรรม หน่วยบ่มเพาะฯ (UBI) และต่อยอดศักยภาพธุรกิจ กับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา TAMMA สบู่ถ่านไม้ไผ่ประจุลบ ผลิตภัณฑ์ชุมชนของชาวบ้านเกาะช้างใต้โดยคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาภายใต้โครงการ U2T อัญมณีประดับเข็มกลัด สัญลักษณ์ของความมีศรัทธา มิตรภาพ ความเสียสละ ความซื่อสัตย์ และความมั่นคง โดย คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา กำไลหิน Howlite (ฮาวไลต์) Tiger eye (ไทเกอร์อาย) และ Lapis Lazuli (ลาพิซ ลาซูลี) โดย หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา (UBI BUU)
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผลงานและผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอันจะส่งผลดีในระยะยาวจากระดับภาค สู่ระดับประเทศและระดับสากลต่อไป