วันนี้ 20 มิถุนายน 2567 พลเอก เดชนิธิต เหลืองงามขำ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกพร้อมด้วย คุณอานุสรา โรจนประดิษฐ นายกสมาคมแม่บ้านองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และคณะ ได้เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนเครือข่ายทหารผ่านศึกในพื้นที่จังหวัดสระบุรี พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนทหารผ่านศึก ณ บ้านพัก พันโท เสรี เอมอำไพ บ้านเลขที่ 100/3 หมู่ที่ 1 ตำบลนายาว อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
จากนั้นได้เดินทางไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ มณฑลทหารบกที่ 13 อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์การฯ ได้เป็นประธานในพิธีถวายพระพรชัยมงคลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พร้อมทั้งพบปะเยี่ยมเยียนทหารผ่านศึก จำนวน 400 นาย พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนทหารผ่านศึก และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 13 ณ สโมสรนายทหาร มณฑลทหารบกที่ 13 อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตลอดจนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรี และตรวจบ้านพักพนักงาน ณ สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรีอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
สำหรับประวัติความเป็นมาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมทำการรบในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อสิ้นสุดสงครามทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดประจำการโดยกระทันหัน ส่งผลให้ตัวทหารและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการครองชีพเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลในขณะนั้นซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมพิจารณา ดำเนินการช่วยเหลือ กระทรวงกลาโหมจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุนขึ้น เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2489 โดยมีที่ทำการอยู่ในกรมเสนาธิการทหาร ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุดและใช้เจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการเป็นผู้ปฏิบัติงาน สำหรับงบประมาณในการสงเคราะห์ ได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง
ต่อมาเมื่อมีการขยายการสงเคราะห์เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการพิจารณาว่าการดำเนินงาน ในรูปของคณะกรรมการจะขาดความรัดกุมและความเหมาะสม กระทรวงกลาโหมจึงได้เสนอเป็นพระราชบัญญัติ จัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือ ที่เรียกโดยย่อว่า “อผศ.” ขึ้นเป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกโดยตรง พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงนับเป็นวันแรกที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการเป็นทหารผ่านศึก ดังนั้น วันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือว่าเป็นวันสถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และเป็น “วันทหารผ่านศึก”อีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2510 สภาทหารผ่านศึก สภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุง พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก โดยได้ขยายการสงเคราะห์ครอบคลุมไปถึงทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งใน และนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมหรือสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด รวมทั้งทหารนอกประจำการด้วย และให้โอนกิจการของมูลนิธิ ช่วยเหลือทหารและครอบครัว ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี มาอยู่ในองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกด้วย พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เรียกว่า “พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510” ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการ ศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ