จากกรณีโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ฝ่ายประถม จัดปฐมนิเทศนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4 ประจำปีการศึกษา 2560 โดยนำทหารมาฝึกท่าบุคคลพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อปลูกฝังสร้างจิตสำนึกของการมีระเบียบวินัย
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเด็กในระดับประถมศึกษา ยังไม่เหมาะกับการฝึกวินัยโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะกระบวนการสร้างวินัยจากกรอบภายนอกนี้ ตึงเกินไป และค่อนข้างจะบังคับเด็กอย่างมาก
วิธีนี้ขัดกับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ โดยเฉพาะธรรมชาติของเด็กโรงเรียนสาธิต ซึ่งจะได้รับการปลูกฝังมุ่งเน้นให้เด็กกล้าแสดงออก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือเน้นการสร้างวินัยจากภายใน ไม่ใช่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างวินัยจากภายนอก
โดยเฉพาะการใช้วิธีฝึกแบบทหารมาบังคับเด็ก ไม่เช่นนั้นจะถูกเด็กย้อนถามได้ว่าทำไมต้องซ้ายหัน ขวาหัน หรือทำไมต้องยืนแบบนี้ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องหาเหตุผล มาอธิบายเด็กสาธิตให้ได้ คุณเอาทหารมาสอนอาชีพให้กับเด็กยังพอเข้าใจได้ เพราะทหารก็ถือเป็นอาชีพหนึ่ง แต่เรื่องความมีวินัยถือว่าจำกัดสิทธิของเด็กมากเกินไปนิดนึง
ศาสตราจารย์ด้านสาขาวิชาประถมศึกษากล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนสามารถยืนยันได้คือความมีวินัยของเด็ก นอกจากต้องเกิดจากการมีวินัยจากภายในตัวเด็กเองแล้ว ยังเกิดจากการวางกฎ เกณฑ์ ระเบียบ กติกา ของการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าแถวซื้ออาหาร การเข้าแถวล้างมือ เข้าห้องน้ำ หรือการยกมือเพื่อขออนุญาตแสดงความคิดเห็น
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของวินัยในการอยู่ร่วมกัน และถูกสร้างขึ้นมาร่วมกันระหว่างตัวเด็ก เพื่อนร่วมชั้น และครู เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรักษากฎ เกณฑ์ ระเบียบ วินัยเหล่านี้เอาไว้ ส่วนตัวคิดว่าเรากำลังเข้าใจคำว่าวินัยแบบหนึ่ง เพราะวินัยเป็นวินัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งและเหมาะสมกับโรงเรียนทหาร ขณะที่วินัยของเด็กนักเรียนโรงเรียนสาธิตนั้นมันคนละความหมายกัน
“ผมขอยกตัวอย่างญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีระเบียบวินัยสูงที่สุดในโลก คุณเคยเห็นเขาเอาเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอนเด็กไหม เรื่องพวกนี้เป็นบรรทัดฐานของสังคม เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเอง โดยที่รู้จักและเข้าใจว่าควรจะต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับบริบทของตนเอง เมื่อเด็กทุกคนได้เห็นก็ซึมซับได้เองว่าหากเขาไม่มีวินัย
เช่น จะไปทัศนศึกษากัน แต่ตัวเองตื่นสายเลยมาไม่ทัน หรือรถต้องออกไม่ตรงเวลาเพราะความไม่มีวินัยของเขา มันจะส่งผลกับเพื่อนหรือกับสังคมอย่างไร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายทั้งหมด แต่การฝึกวินัยเด็กอย่างที่เป็นข่าวผมว่ามันอธิบายได้ยาก เพราะเป็นวินัยที่คล้ายกับการถูกบังคับให้ทำมากกว่า ซึ่งขัดกับหลักวิธีการคิดที่เราบอกว่า เด็กต้องไม่คิดติดกรอบ เด็กต้องกล้าแสดงออก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่คุณกลับไปใส่กรอบเรื่องความมีวินัยที่แน่นและตึงจนเกินไปให้กับเขา”
ศ.สมพงษ์กล่าว