ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตรา 4 เรื่อง ได้แก่ การลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการใช้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำธุรกรรมที่มากขึ้น ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงคล่องตัวมากขึ้น
ตลอดจนการเพิ่มทางเลือกให้รายย่อยทำธุรกรรมผ่านผู้ประกอบการธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค และเพิ่มทางเลือกลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยและเพิ่มผู้ให้บริการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.เปิดเผยว่า การปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (ease of doing business) รวมทั้งเพื่อผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะต้องไม่ทำให้การทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของ ธปท. ด้อยลง โดย ธปท. ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลสำหรับติดตามวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อประเมินผลกระทบต่อตลาดการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม การผ่อนคลายกฎเกณฑ์แลกเปลี่ยนเงินนั้น ธปท. จะทยอยดำเนินการเป็นลำดับ โดยหลายเรื่องมีผลบังคับใช้ได้ทันที แต่บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาบ้าง ซึ่ง ธปท. จะเร่งดำเนินการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2560
นายวิรไท กล่าวอีกว่า จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าการผ่อนคลายในระยะแรก จะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนในส่วนที่สามารถประเมินตัวเลขได้มากกว่า พันล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่นับรวมประโยชน์ทางอ้อมที่ประเมินเป็นตัวเลขได้ยาก เช่น การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน
ด้าน นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้เริ่มดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนธ.ค.2559 โดยร่วมกับที่ปรึกษาจากต่างประเทศและตัวแทนภาคเอกชนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการทบทวน ซึ่งแนวทางการผ่อนคลายที่คณะทำงานเห็นชอบแบ่งเป็น 4 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือ การลดขั้นตอนและเอกสาร ด้วยการลดเอกสารหลักฐานประกอบการโอนเงินออกนอก ตลอดจนยกเลิกการกรอกแบบฟอร์มทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ธปท. อนุญาตให้การยื่นและเก็บเอกสาร ทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อลดเวลาการขออนุญาต ลดต้นทุนจัดทำ จัดเก็บเอกสาร โดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ที่สำคัญ คือเพิ่มประสิทธิภาพทำธุรกิจและขีดแข่งขันของประเทศ
“เดิมเวลาที่ซื้อเงินตราต่างประเทศ หรือโอนเงินออกนอกประเทศที่มีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นดอลลาร์ บริษัทนั้นๆ ต้องแสดงเอกสารงบการเงิน หรือต้องกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ซึ่งพวกนี้ เราจะตัดออกไป รวมทั้งปรับรูปแบบไปใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยประเมินว่าจะช่วยภาคเอกชนประหยัดต้นทุนได้ประมาณปีละ 1 พันล้านบาท”
เรื่องที่สอง คือ การยกเลิกและผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อช่วยให้การบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนง่ายขึ้น เปิดให้ยกเลิกสัญญาป้องกันเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้เสรี และอนุญาตให้บริษัทในเครือเดียวกันบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้โดยไม่ต้องยื่นขอธปท. เป็นต้น
ผ่อนคลายโอนเงินออกนอก
สำหรับเรื่องที่สาม คือ เพิ่มวงเงินและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มทางเลือกซื้อขายโอนเงินรายย่อย โดยให้บริษัทที่ให้บริการโอนเงินไปต่างประเทศ (Money Transfer Agent) มีความยืดหยุ่นโอนเงินไปต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งขยายวงเงิน และเพิ่มวัตถุประสงค์ให้รวมถึงชำระค่าสินค้าได้
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงแก่ นักลงทุนต่างชาติสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อไทย โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. รวมทั้งเปิดให้บริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อขายเงินต่างประเทศในรูปอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากธนบัตรต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการชำระค่าสินค้าบริการ
ส่วนเรื่องสุดท้าย คือ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ประชาชนและบริษัท มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น โดยประชาชนที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ไม่ต้องผ่านตัวกลาง รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าเพื่อลงทุนได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มผู้ให้บริการ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ เป็นตัวกลางพานักลงทุนไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใน ทีเฟ็กซ์ รายใหม่ๆ ยื่นขอเป็น currency futures broker ได้ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาแข่งขันให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศได้