ประธานกรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอันเชิญพระพิฆเนศ ขึ้นประทับบนเทวาลัย ธรรมชาติ เพื่อไว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้ามาเยี่ยมชม ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เวลา 08.45 น. ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา ตำบลกุดตาเพชร อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานและคณะกรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอันเชิญพระพิฆเนศ ขึ้นประทับบนเทวาลัย และเยี่ยมชมอาคารศูนย์ความรู้สัตว์ป่าและธรรมชาติ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี โดยมี นายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พล.ต.นิธิ อิงคสุวรรณ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 13 นายชัชชัย สารคำ นายอำเภอลำสนธิ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้
โดยพิธีบวงสรวงอันเชิญพระพิฆเนศ ขึ้นประทับบนเทวาลัยในครั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานและคณะกรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้มอบพระพิฆเนศปางสำริดองค์ยืน จำนวน 1 องค์ให้แก่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อไว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้ามาเยี่ยมชม ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา แห่งนี้
สำหรับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เป็นองค์กรสาธารณกุศล ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำช้างเลี้ยงปล่อยคืนช้างสู่ธรรมชาติ มีการดำเนินงานโดยยึดหลักตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “ช้างควรอยู่ในป่า แต่ต้องทำป่านั้นมีอาหารกินเพียงพอ” และตามแนวพระราชปณิธาณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ช้างไทยไม่ให้สูญพันธุ์ และได้พระราชทานให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “สก” ไขว้ใต้พระมหามงกุฎสถิตไว้เบื้องบนตราสัญลักษณ์มูลนิธิ อันมีความหมายว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นเสมือนร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์ช้างไทย พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการคืนชีวิตช้างสู่ป่าธรรมชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบ นิเวศป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม พระราชปณิธานของพระองค์นำมาซึ่งโครงการอนุรักษ์ช้างที่ช่วยเกื้อหนุนรักษาระบบนิเวศป่าไม้เข้าด้วยกันไว้อย่างสมบูรณ์ เพราะป่าคือที่ดำรงชีวิตที่ดีที่สุดของช้างและจำนวนโขลงข้างในป่าชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่านั่นเอง”
โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับความร่วมมือจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปัจจุบันมูลนิธิฯ มีช้างที่ต้องดูแลและติดตามหลังปล่อยคืนสู่ป่า จำนวน 101 ตัว ใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง จำนวน 39 ตัว เป็นช้างที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปล่อยจำนวน 1 ตัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปล่อย จำนวน 6 ตัว 2) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี จำนวน 61 ตัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปล่อย จำนวน 6 ตัว และ 3) อุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดลพบุรี จำนวน 1 ตัว
นอกเหนือจากการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ช้างไทยแล้ว มูลนิธิฯ เล็งเห็นว่า การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง ช้างแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการปลูกจิตสำนึก และกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของช้างต่อป่าไม้ และธรรมชาติเพียงใดในปี 2563 มูลนิธิคืนข้างสู่ธรรมชาติได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างอาคารศูนย์ความรู้สัตว์ป่าและธรรมชาติ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา โดยจัดสร้างนิทรรศการแบบถาวรภายในอาคารแห่งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับข้าง สัตว์ป่าและธรรมชาติ ซึ่งภายในมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น โซนห้องประชุมหรือห้องสัมมนา โซนใต้ร่มพระบารมี โซนโครงการคืนข้างสู่ธรรมชาติ และ โซนช้างผู้สร้างความอุดมสมบูรณ์สำหรับในปี 2567 นี้ มูลนิธิฯ มีโครงการส่วนต่อขยายโดยใช้พื้นที่ติดกับอาคารศูนย์ความรู้สัตว์ป่าและธรรมชาติสำหรับทำเป็นอุทยานตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีลักษณะที่เป็นป่าธรรมชาติไม่ทึบมาก มีส่วนที่เป็นทุ่งหญ้า เก็บธรรมชาติป่าเดิมให้มากที่สุด มีทางเดินชม (Trail) ทางเดินจะผ่านจะมีช้างและสัตว์จำลอง มีลำธาร โดยภาพรวมต้องเป็นสวนที่ง่าย ใช้พลังงานจากธรรมชาติแหล่งน้ำ และประหยัดต่อการบำรุงรักษาอีกด้วย
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ