เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 : พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเข้าประชุมเพื่อหาแนวทางการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขยาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี,นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร,นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร,นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส.,นายอุดมชัย โลหณุต สำนักงาน ปปส.กทม. พร้อมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุม 10–01 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า “ในอดีต ผู้ต้องหาในคดียาเสพติด ที่ติดยาเสพติดจะถูกคุมขังในเรือนจำ ที่ส่วนใหญ่สามารถเลิกยาได้เนื่องจากมีการหยุดเสพแบบหักดิบ แต่เมื่อพ้นโทษแล้วกลับไปหวนคืนการเสพ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างแท้จริง ทำให้การประชุมครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมต้องการหาแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด ผ่านการบังคับใช้กฎหมายประมวลยาเสพติดที่มีช่องทางในการให้กรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคมฯ เข้าดำเนินการกับผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟู ผ่านการปรับพฤตินิสัย การฝึกอาชีพ การศึกษา การจัดสวัสดิการ และการสนับสนุนต่างๆ ที่จำเป็นจนพวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน เชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ กรุงเทพมหานครจะเป็นฐานในการแก้ไขปัญหาฯ จากทฤษฎีผู้เสพ คือ ผู้ป่วย เพื่อให้คนมีสุขภาพดี ให้พวกเขาไปหาหมอ”
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชื่นชมและมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ ซึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมบูรณาการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน จนอาจไม่ได้รับความร่วมมือ ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะเกรงอันตรายจากผู้มีอิทธิพล ซึ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องให้มีความปลอดภัยด้วย
จากนั้น หน่วยงานต่างๆ นำเสนอข้อมูลที่สำคัญ อาทิ สถานการณ์ยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร ภาพรวมของการแพร่ระบาดมีทิศทางเดียวกับภาพรวมของทั้งประเทศ โดยผลการจับกุมเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการตรวจยึดยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจับกุมในคดีใหญ่ ชี้ว่า ยาเสพติดล็อตใหญ่มีการลำเลียงมาจากชายแดนภาคเหนือ นำมาพักหรือเก็บเพื่อรอการจำหน่ายในสถานที่รอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนกระจายเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน หรือสถานบันเทิงต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นยาเสพติดประเภท ยาบ้า ไอซ์ คีตามีน และเฮโรอีน
สำหรับการจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่ กทม. มีการดำเนินคดีกับผู้ค้าในกลุ่มคนร้าย พร้อมคัดแยกผู้ต้องหาเพื่อนำผู้เสพเข้ารับการบำบัด ซึ่งจากผลการจับกุมเฉลี่ยต่อเดือนจะพบผู้เสพประมาณ 1,500 ราย แต่ประเด็นสำคัญ อยู่ที่การขยายผล คัดกรองผู้เสพ ออกจากผู้ค้าที่ต้องตรวจหาสารเสพติด ซึ่งมีค่าใช้จ่าย สำนักงาน ป.ป.ส. รับทราบขัอจำกัดนี้พร้อมจะนำไปหารือกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง
สำหรับการรองรับผู้ป่วยจิตเวช ก่อนกลับคืนสู่ชุมชน กรุงเทพมหานครเสนอการใช้สถานที่ของหน่วยงานกองทัพ เช่น กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับ
นอกจากนี้ สถานการณ์ยาเสพติดของนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงจาก 7 พื้นที่การศึกษาของกรุงเทพมหานคร โดยถือว่า “กรุงเทพมหานคร” นับเป็นชุมชนเขตเมือง มีการปกครองรูปแบบเฉพาะ มีข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งต่างจากจังหวัดต่างๆ ที่นับเป็นชุมชนนอกเขตเมือง จึงส่งผลต่อความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจิตเวช ที่อาจมีความจำเป็นในการประกาศให้กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการฟื้นฟู และยังต้องให้ความสำคัญต่อแผนการปฏิบัติงาน ยกตัวอย่าง การแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชนแออัด ทำให้แม้ว่าจะมีผลการจับกุมได้มาก แต่โอกาสเสพซ้ำมีสูงกว่าพื้นที่อื่น
ในส่วนกรมบังคับคดีเสนอนำทรัพย์ที่ขายทอดตลาดไม่ได้ในพื้นที่ กทม. เช่น ตึกร้าง คอนโดร้าง มาพัฒนาเป็นที่พักราคาถูก ให้แก่ first jobber หรือผู้ที่ต้องการ เพื่อช่วยลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัย
โดยทาง กทม. รับข้อเสนอกระทรวงยุติธรรม เพื่อหาแนวทางปฏิบัติอีกทั้งยัง เสนอเพิ่มทางเลือกในการฝึกอาชีพให้ หรือ นำผู้บำบัดมาเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ สำหรับการพัฒนาที่พักราคาถูกทาง กทม. มีความยินดีที่จะหารือในส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเห็นถึงศักยภาพในการนำมาทำเป็นที่พักสวัสดิการข้าราชการเจ้าหน้าที่ของ กทม. ด้วย