ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าตามธรรมชาติ มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดแล้วนำมาปรุงอาหาร จนเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว และเวียนศีรษะได้ สคร.9 นครราชสีมาเตือนประชาชน หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการกินเห็ด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น 1) เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน 2) เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม 3) เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า 4) เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น สำหรับวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ต้มเห็ดพิษกับข้าวหรือหอมแดงแล้วจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี หรือจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงินเครื่องเงินแล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้วก็ไม่สามารถทำลายพิษได้
สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 5 มิถุนายน 2567 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 479 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 5 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 30 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 11 ราย 2) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 9 ราย 3) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 9 ราย และ 4) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 1 ราย
กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำประชาชนว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร แต่ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะขยายพันธุ์เพื่อความปลอดภัย เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการกินเห็ด หากรับประทานเห็ดแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว เวียนศีรษะให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
กันตินันท์ เรืองประโคน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค นครราชสีมา