วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เดือนทางไปยืนหนังสือถึง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ จากกรณีเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศลงวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๗ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่เคยเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น
โดยนายวัชระ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “…การมายื่นหนังสือของตนในวันนี้ เพื่อติดตามสอบถามสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการต่อกรณีดังกล่าวถึงขั้นตอนใดแล้ว เนื่องจากคดีนี้อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน และบัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๖ ต่อ ๓) มีคำสั่งรับคำร้องกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๒ ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๔) และ (๕) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ ๑๗/๒๕๖๗)
ทั้งนี้ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำแถลงผลการพิจารณามีคำสั่งรับคำร้องประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๔๐ คน แสดงว่าคดีมีมูล และตนขอยืนยันว่า นายเศรษฐา ทวีสิน รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ชื่นบาน ได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑ และต่อมาสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อนายพิชิตฯ ออกจากทะเบียนทนายความด้วยเหตุที่นำเงินสด ๒ ล้านบาทไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลในบัลลังก์ศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑ ให้จำคุก ๖ เดือน แสดงว่านายพิชิตฯ เป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง แม้ต่อมานายพิชิตฯ ได้ยื่นคำขอต่อสภาทนายความเพื่อจดทะเบียนใบอนุญาตทนายความอีกถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองของสภาทนายความฯ และสภาทนายความฯ ก็ไม่ได้อนุมัติ แสดงให้เห็นถึงความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงที่สุดที่บังอาจนำถุงขนมใส่เงินสด ๒ ล้านบาท ไปติดสินบนถึงบัลลังก์ศาลฎีกา นายพิชิตฯ จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี
การกระทำของนายเศรษฐาฯ ที่เสนอทูลเกล้าแต่งตั้งนายพิชิตฯ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๗ ให้ได้เป็นรัฐมนตรี การกระทำดังกล่าวของนายเศรษฐาฯ จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ย่อมก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคบค้าสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้นายเศรษฐาฯ ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ (๔) โดยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และการกระทำของนายเศรษฐาฯ มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐ (๕) ด้วยเหตุนายเศรษฐาฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรีดังนี้
ข้อ ๗ ต้องถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
ข้อ ๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่นและมีพฤติการณ์ที่รู้หรือเห็น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ ๑๑ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ข้อ ๑๗ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง
ข้อ ๑๙ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณีผู้ประพฤติผิดกฎหมายผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
อนึ่งการที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์มีมติไม่รับ นายพิชิต ชื่นบาน ให้จดทะเบียนรับใบอนุญาตว่าความอีก ย่อมแสดงว่าสภาทนายความฯ มีเกียรติยศและศักดิ์ศรีมากกว่าคณะรัฐมนตรีชุดนายเศรษฐา ทวีสิน…”