“โกลบอล ฮอว์ก” อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนขนาดยักษ์ของกองทัพสหรัฐ เข้าประจำการชั่วคราวอยู่ที่ฐานทัพสหรัฐในกรุงโตเกียว รัฐบาลญี่ปุ่นจะทุ่มงบประมาณสูงสุดซื้อเครื่องบินเพื่อสอดแนมเกาหลีเหนือและจีน
ฝูงบินลาดตระเวน “โกลบอล ฮอว์ก” ถูกส่งจากฐานทัพประจำการหลักในเกาะกวมมายังฐานทัพอากาศโยะโกะตะในญี่ปุ่นเมื่อวัน 24 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้บรรยายสรุปแก่สื่อมวลชนว่า “โกลบอล ฮอว์ก” มีปีกที่มีความกว้างราว 40 เมตร สามารถสั่งการได้จากภาคพื้นดิน และเมื่อนำเครื่องขึ้นแล้วสามารถบินได้มากกว่า 34 ชั่วโมง กล้องและเรดาห์ของอากาศยานนี้สามารถรวบรวมข้อมูลข่าวกรองจากระดับความสูงราว 18,000 เมตรได้
กองทัพสหรัฐระบุว่าอากาศยานนี้จะประจำการอยู่ในญี่ปุ่นจนถึงเดือนตุลาคมเพื่อหลีกเลี่ยงพายุไต้ฝุ่นที่มักก่อความเสียหายให้เกาะกวม และเชื่อว่าจะมีการนำอากาศยานนี้ไปใช้เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของเกาหลีเหนือเช่น การยิงขีปนาวุธ
นี่เป็นครั้งแรกที่ “โกลบอล ฮอว์ก” 5ลำ มาประจำการในพื้นที่กรุงโตเกียวนานถึง 6เดือน โดยจะมีเจ้าหน้าที่และช่างเครื่องยนต์ชาวสหรัฐ 110 นายมาประจำการด้วย ทั้งนี้ปกติแล้ว “โกลบอล ฮอว์ก” จะมาพักหลบมรสุมที่ฐานทัพมิสะวะ ในจังหวัดอาโอโมริตั้งแต่ปี 2014 แต่ในปีนี้ได้ย้ายมาประจำการที่ฐานทัพอากาศโยะโกะตะ ใกล้กรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาหลีเหนือมากกว่า
“โกลบอล ฮอว์ก” ที่มาประจำการครั้งนี้จะคอยเป็นหูเป็นตาให้กับสหรัฐและญี่ปุ่น โดยเป็นรุ่น Block 30 และ Block 40 ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ ที่สามารถรวมรวมข้อมูลภาพถ่ายและคลื่นวิทยุสำหรับสอดแนมในภาคพื้นดิน ที่ว่ากันว่าภาพถ่ายที่ได้ชัดเจนถึงขนาดที่สามารถเห็นใบหน้าของคนที่กำลังอยู่บนพื้นดินได้
นายทหารระดับสูงของกองกำลังป้องกันตนเองแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า จากฐานทัพอากาศโยะโกะตะไปยังเกาหลีเหนือใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง และไปยังพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือใช้เวลาเพียง 3ชั่วโมง จึงช่วยให้ได้ข้อมูลข่าวกรองได้อย่างสะดวก
รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมทุ่มทุนซื้อ
กระทรวงการป้องกันประเทศของญี่ปุ่นมีแผนที่จะซื้อหา “โกลบอล ฮอว์ก” จำนวน 3ลำมาประจำการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2019 โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2015 ถึง2017 เพื่อนำมาใช้หาข่าวกรองของเกาหลีเหนือและจีนเป็นการเฉพาะ
“โกลบอล ฮอว์ก” ของญี่ปุ่นจะประจำการที่ฐานทัพอากาศโยะโกะตะ และจะเป็นศูนย์บัญชาการระหว่างกองทัพสหรัฐและญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับปรุงระเบียบเพื่อรองรับปฏิบัติการร่วมระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2015 เพื่อคุ้มครองความมั่นคงปลอดภัยของญี่ปุ่น การที่มีเครื่องบินสอดแนมประสิทธิภาพสูงเป็นของตัวเองยังจะทำให้ญี่ปุ่นมี “แต้มต่อ” มากขึ้น เพราะสามารถรวบรวมข่าวกรองได้ด้วยตัวเอง และสามารถวางยุทธศาสตร์ทั้งของญี่ปุ่นเองและร่วมกับสหรัฐได้อยากมีประสิทธิภาพมากขึ้น