เมื่อวันที่ 28 พ.ค.67 เวลา 10.30 น. ณ ห้องนครรังสิต บอลรูม โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดโครงการ สร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) “รู้ทันกลโกง หยุดกลคนลวง” ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA โดยมี นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ดร.พัชราภรณ์ สิริวรเวชยางกูล สถิติจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมของจังหวัดปทุมธานีเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 150 คน
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ท่ามกลางความเจริญทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดภัยเงียบที่แอบแฝงมาและเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย และทุกพื้นที่ชุมชนคือ “ภัยออนไลน์” ซึ่งเป็นภัยที่ใกล้ตัวมากขึ้น เช่น การดูดเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร การหลอกลวงออนไลน์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้กู้เงิน แต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุน หลอกเป็นบุคคลอื่น เพื่อยืมเงิน และเว็บหาคู่ออนไลน์ สร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่เด็ก หรือเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ส่งผลกระทบใน หลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ดังนั้น จำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้บริโภค คุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ มีความปลอดภัยและเป็นธรรม ซึ่งจังหวัดปทุมธานี ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยทางออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ด้านการป้องกัน และจัดการปัญหาธุรกรรมทางออนไลน์ เสริมสร้างเกราะป้องกัน ให้สามารถป้องกันตัวเอง และสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างความเชื่อมั่นต่อเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ “โครงการสร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA)” สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) จัดขึ้นให้กับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่แต่ละจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยดำเนินมาแล้ว 22 จังหวัด และขยายเพิ่มขึ้นอีก 10 จังหวัดในปีนี้ รวมถึงจังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่มาในรูปแบบที่แตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการป้องกันและรับมือกับปัญหาธุรกรรมออนไลน์ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้เป็นตัวแทนกระบอกเสียง ส่งต่อความรู้เรื่องภัยออนไลน์สู่ชุมชนในวงกว้างได้ต่อไป
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน