พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะคลอดออกมา ได้ถูกกระแสคัดค้านอย่างหนัก โดยผู้ไม่เห็นด้วยเห็นว่าร่างกฎหมายนี้ไม่มีความชัดเจน กระทบสิทธิประชาชน ปิดกั้นการตรวจสอบ เปิดช่องไม่ต้องใช้คำสั่งศาลในการปิดเว็บไซต์ รวมทั้งอาจมีการสร้างซิงเกิ้ลเกตเวย์ฯ และทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ยื่นรายชื่อประชาชน 3 แสนรายชื่อขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คว่ำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ถึงที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายนี้ด้วยเสียงเอกฉันท์
สำหรับเนื้อหาสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เช่น กำหนดความผิดฐานส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น อันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ หรือ “ส่งสแปม” ให้มีโทษปรับ 200,000 บาท (เพิ่มจากเดิม 100,000 บาท) การให้มีคณะกรรมการกลั่นกรอง 9 คน ขึ้นมาพิจารณาและเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดที่ควรจะขออนุญาตต่อศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึง หรือ ให้ศาลสั่งบล็อคเว็บไซต์