จากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและผันผวนซึ่งส่งผลกระทบให้เกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนการทำการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ให้เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เกษตรกรสนใจใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพง คือ การผลิตและใช้แหนแดง ซึ่งเป็นเฟิร์นลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ดำเนินโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ภายใต้งบอุดหนุนโครงการวิจัยการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อนำเทคโนโลยีการผลิตและใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) จากกรมวิชาการเกษตรไปขยายผลสู่เกษตรกร โดยแหนแดงสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้เร็ว ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น หากใช้ผสมกับดินปลูกจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจนและธาตุอาหารชนิดอื่น เช่นโพแทสเซียมได้
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (สสก.1.จ.ชน.) โดยกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ ได้ดำเนินโครงการขยายผลผลงานวิจัยการผลิตและใช้แหนแดงในนาข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ซึ่งดำเนินการในฤดูนาปี 2567 โดยใช้พันธุ์ข้าว กข 41 ในพื้นที่ของเกษตรกรสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โดยได้จัดทำแปลงต้นแบบการผลิตขยายแม่พันธุ์แหนแดง ในแปลงนาของนายทองสุข อ่อนละมัย ประธาน ศดปช. ตำบลบางโขมด และขยายผลการผลิตและนำไปใช้ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของ ศดปช.ตำบลบางโขมด จำนวน 30 คน
สำหรับผลการดำเนินงานที่ศดปช.ตำบลบางโขมดในระยะที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรสมาชิก สามารถผลิตแหนแดง ได้กว่า 1.5 ตัน และนำไปใช้ในนาข้าว พืชผัก บางรายใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงอีกจำนวน 400 คน ทั้งนี้ หากโครงการประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีจากเกษตรกรที่เข้าร่วมดำเนินการ ก็จะได้ขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงไปสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากเรียนรู้เรื่องแหนแดงของ ศดปช.ตำบลบางโขมด สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมอ โทรศัพท์ 036 201 137
ข่าว ธีรพงษ์ วงค์สถาน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท// รายงาน
ที่มา กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท