วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ณ ห้อง SD-601 ชั้น 6 อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดงาน “รวมพลคน KidBright” KidBright Developer Conference 2024 (KDC24) ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด: Edge AI การผสมผสานความสามารถของการประมวลผล Edge Computing กับปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.),ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค (สวทช.),ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค (สวทช.),ดร.เสาวลักษณ์ แก้วกำเนิด หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เนคเทค (สวทช.) เข้าร่วมงานกิจกรรม
ทั้งนี้การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และได้รับเกียรติจาก สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ศูนย์ประสานงานเครือค่าย KidBright ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ร่วมประสานเครือข่ายโรงเรียน ครู นักเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า KidBright Education Platform เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสอนเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้พัฒนากระบวนการคิดเชิงตรรกะ การคิดเชิงวิเคราะห์ ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดสู่การเป็นนวัตกร ซึ่ง (สวทช.) โดยทีมวิจัยเนคเทค ไม่เคยหยุดการพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัยจนมาเป็น บอร์ด“KidBright μAI” (คิดไบร์ทไมโครเอไอ) ซึ่งเป็นบอร์ดที่ตอบโจทย์สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดทักษะการนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาโจทย์จริงในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนากระบวนการคิดต่างๆ อันได้แก่ การคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญแห่งอนาคต ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการ “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” และตอบโจทย์แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) ที่มีกระทรวง อว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการฯ ของคณะกรรมการแผนปฏิบัติการนี้
“KidBright Education Platform ภายใต้ concept อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ผ่าน KidBright Platform ที่ออกแบบให้สามารถเรียนรู้ได้ทั้งแบบ Online และ Onsite ทำให้มีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ เข้ามาใช้ KidBright Education Platform ไม่ต่ำ 6,000 แห่ง สร้างครูผู้สอนไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ซึ่งครูผู้สอนเหล่านั้นได้นำ KidBright Simulator ไปใช้เป็นเครื่องมือสอนโค้ดดิ้งให้กับนักเรียน เกิดการเข้าใช้งาน KidBright Simulator ไม่ต่ำกว่า 60,000 แอคเซส สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท”
ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า สำหรับในปี 2567 ทีมวิจัยได้ให้ความสำคัญกับการสอนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แก่เยาวชนในโรงเรียน โดยเฉพาะเทคโนโลยี Edge AI ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์ และการประมวลผลร่วมกับอุปกรณ์เอดจ์ เช่น สมาร์ทโฟน เซนเซอร์ และอุปกรณ์ IoT ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถประมวลผลข้อมูลและตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Edge AI ผ่าน บอร์ด“KidBright μAI” (คิดไบร์ทไมโครเอไอ) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง และปัญญาประดิษฐ์ ในรูปแบบสะเต็มศึกษา บนบอร์ดได้ติดตั้งจอแสดงผล ไมโครโฟน เซนเซอร์ต่าง ๆ รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกผ่านการสื่อสารไร้สาย หรือ WiFi ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงชุดคำสั่งแบบบล็อกเพื่อควบคุมการทำงานของบอร์ดผ่าน KidBright μAI IDE (คิดไบร์ทไมโครไอดีอี) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระบบอัตโนมัติที่มีการประมวลผลปัญญาประดิษฐ์แบบเรียลไทม์ได้
อย่างไรก็ดี KidBright Education Platform ถือเป็นการส่งเสริมการให้บริการทางการศึกษาในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมการเรียนเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโรงเรียนด้วยนวัตกรรม ที่พัฒนาโดย (สวทช.) แสดงให้เห็นถึงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปใช้ประโยชน์จริงในการพัฒนาการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับทุกช่วงการศึกษาตั้งแต่ในระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา รวมถึงกลุ่มอาชีวะ ที่สำคัญเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแห่งอนาคต ผ่านกิจกรรมความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งนักพัฒนาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับรูปแบบการเรียนให้ทันสมัย เกิดการพัฒนาและสร้างนักนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญในทักษะที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป
ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค (สวทช.) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน STEM Education เป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ยุคใหม่ เพราะดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้เร็วมาก ซึ่ง KidBright μAI” (คิดไบร์ทไมโครเอไอ) ถือเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ Coding และ AI ในรูปแบบสะเต็มศึกษา โดยจุดเด่นของ KidBright μAI อาทิ มีเซนเซอร์หลายชนิด สามารถใส่โค้ดอีกหลายชนิดเข้าไปได้ เป็นต้น ดังนั้นความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์มีหลายด้านอยู่ที่ผู้เรียนจะจินตนาการเพิ่มเพิ่มความสามารถของบอร์ดเข้าไป เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจการนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาโจทย์จริงในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือเป็นการช่วยเสริม การคิดเชิงระบบ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ให้กับนักนวัตกรไทย