เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย สภากายภาพบำบัด จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “ระบบบริการและนวัตกรรมบริการด้านกายภาพบำบัด” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) และศาสตราจารย์ ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมกันนี้ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ (สวทช.),รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ อุปนายกสภากายภาพบำบัด และคณะผู้บริหารและนักวิจัยทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมงาน โดยวัตถุประสงค์ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนางานบริการด้านกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นบริการด้านสาธารณสุขที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในสังคม
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) มีพันธกิจหลักในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของหน่วยงานทางด้าน การวิจัย พัฒนา ออกแบบ และวิศวกรรม ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างฐานรากเทคโนโลยีให้กับประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน BCG Implementation เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์เพื่อที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าการบริการทางด้านสาธารณสุขของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
“ภายใต้ความร่วมมือนี้ (สวทช.) โดย กลุ่มนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลสุขภาพการแพทย์ มีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพ และเทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางแพทย์และสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยมีบทบาทหลักด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในส่วนของการออกแบบพัฒนาแพลตฟอร์มด้านกายภาพบำบัด เพื่อสนับสนุนการให้บริการสาธารณสุขระบบปฐมภูมิของวิชาชีพกายภาพบำบัด ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบริการสาธารณสุขของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดย (สวทช.) พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อทำให้เกิดผลงานนวัตกรรมทางดิจิทัลทางการแพทย์และสุขภาพ สร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านกายภาพบำบัดของประเทศต่อไป” ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวว่า สภากายภาพบำบัด ถือได้ว่าเป็นส่วนงานที่มีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่มีบทบาทในการรักษา ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชน การจับมือกับ (สวทช.) ในครั้งนี้ ครอบคลุมหลายประเด็น อาทิ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนระบบการบริการกายภาพบำบัด การใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลด้านการบริการกายภาพบำบัด การใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระหว่างบริการกายภาพบำบัดกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มในสังคม
“การให้บริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน ไม่ควรมุ่งเน้นเพียง การรักษาโรค แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า ผู้ป่วยจะพิการไปตลอดชีวิตหรือไม่ ผู้ป่วยจะกลับไปมีชีวิตเหมือนก่อนการเจ็บป่วยได้หรือไม่ การทำกายภาพบำบัด สามารถช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปเคลื่อนไหวร่างกายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนหรือใกล้เคียงเดิมได้อีกครั้ง แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ในปัจจุบัน ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่า เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมากในการเข้าถึงบริการการฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วยของประชาชน โดยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการทำกายภาพบำบัด แต่กลับไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัดอย่างเพียงพอและทันเวลา ส่งผลให้เกิดความพิการถาวร หรือมีคุณภาพชีวิตต่ำลง เนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง (สวทช.) และ สภากายภาพบำบัด ในครั้งนี้ จึงเป็นการนำพลังของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือบิ๊กดาต้า มาใช้เพื่อลดความเหลี่อมล้ำนี้ ช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยจำนวนมากได้ทำกายภาพบำบัดอย่างเพียงพอและทันเวลา จนมีร่างกายที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง คืนคนเก่ง คนมีความสามารถ กลับสู่สังคม” นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวทิ้งท้าย