กองทัพทยอยร่อนหมายเรียก “พลสำรอง” เข้าฝึกวิชาทหาร ก.แรงงาน ย้ำ “นายจ้าง” ปฏิบัติตามกฎหมาย อนุญาต “ลูกจ้าง” ใช้สิทธิลารับราชการทหารแต่ได้รับค่าจ้างตามเดิม หลังฝึกต้องได้กลับเข้าทำงานตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างเท่าเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่กระทรวงกลาโหมจะทยอยเรียกกำลังพลสำรอง ตาม พ.ร.บ. กำลังพลสำรอง 2558 โดยเป็นกำลังพลสำรองที่มีระบุในบัญชีของหน่วยงานที่มีสถานะเป็นนายทหารสัญญาบัตรกองหนุน หรือ รด. ปี 5 และ รด. ปี 3 และทหารที่ปลดกองประจำการแล้ว หรือบุคคลที่จับได้ใบดำและจะต้องมีอายุไม่เกิน 45 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 1 – 2 หรือ ประมาน 7 หมื่นคน เฉลี่ยแล้วฝึกไม่เกิน 10 วัน และจะได้รับสิทธิเบี้ยเลี้ยงด้วยนั้น ขณะนี้เริ่มมีการทยอยส่งหมายเรียกพลไปยังกำลังพลสำรองตามที่ระบุในบัญชี
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ที่เข้าทำงานอาจจำเป็นต้องลางาน เนื่องจากหากไม่ไปรายงานตัว หรือไปไม่ทันตามวัน เวลาที่กำหนดจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย โดยผู้ถูกเรียกจะต้องนำหมายเรียกพลส่งให้เจ้าหน้าที่ สำหรับผู้ที่เรียน รด. เป็นทหารกองหนุน จะต้องนำสมุดประจำตัวทหารกองหนุนติดตัวไปด้วย
เมื่อวันนี้ 17 พ.ค. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้ทำการเรียกทหารกองหนุนเข้ารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ระหว่าง มี.ค. – ก.ค. 2560 กระทรวงแรงงานจึงออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติตาม พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างซึ่งเป็นทหารกองหนุนทำงานอยู่และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 35 และมาตรา 58 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อการตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และในการจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาด้วย
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เมื่อลูกจ้างได้รับคำสั่งเรียกพล (ตพ.17) หรือหมายเรียกพล (ตพ.13) เพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ประจำปี 2560 ตาม พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ลูกจ้างนำคำสั่งหรือหมายเรียกดังกล่าวแสดงต่อนายจ้าง พร้อมขออนุญาตลาหยุดงาน โดยนายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลครั้งนี้ ตามกำหนดเวลาและสถานที่ที่ปรากฏในคำสั่งหรือหมายเรียกพล เมื่อครบระยะเวลาการฝึกแล้ว ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองนำเอกสารขอความร่วมมือในการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง (ตพ. 22) ไปแสดงต่อนายจ้างเพื่อขอรับค่าจ้าง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน พร้อมทั้งรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม ทั้งนี้ การเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารในกรณีนี้ ไม่รวมถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร)