วันที่ 9 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากการแสดงเจตจำนงและยื่นจดหมายลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร ของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ในการยื่นหนังสือลาออกตำแหน่ง รมช.คลัง ต่อนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.นั้น แม้ในวันเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะได้โทรศัพท์เพื่อยับยั้งการลาออกดังกล่าว แต่ในทางกฎหมายแล้วถือว่า การลาออกของนายกฤษฎามีผลโดยสมบูรณ์แล้ว โดยก่อนหน้านี้มีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภาตามบทเฉพาะกาล เมื่อรัฐมนตรีคนใดไม่ประสงค์จะรับผิดชอบในหน้าที่ของตนหรือในนโยบายทั่วไปอีกต่อไปจึงต้องถือว่า เป็นสิทธิของรัฐมนตรีคนนั้น ที่จะลาออกเมื่อใดก็ได้ และไม่อยู่ภายใต้การยับยั้งของผู้ใด ดังนั้น ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาลาออกด้วยวาจา การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับทราบการแสดงเจตนานั้น
ส่วนในกรณีที่การแสดงเจตนาลาออกกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร การลาออกย่อมมีผลสมบูรณ์นับแต่วันที่ได้กำหนดไว้ในใบลาออก ซึ่งได้ยื่น ณ สถานที่และต่อบุคคลตามระเบียบปฏิบัติราชการ โดยไม่จำเป็นต้องยื่นต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง