สรุปผลตรวจกระทะ Korea King ไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะ จ่อเรียกบริษัทผู้นำเข้าชี้แจง ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิง มีสิทธิ์ขอเงินคืน
ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมต่างให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ สำหรับกรณีของกระทะยี่ห้อดังที่มีราคาขายใบละ 3,000 บาท แถมอีก 1 ใบฟรี ซึ่งต่อมาก็มีข่าวว่า มีคนไปเจอที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาขายใบละไม่ถึง 600 บาท ก่อนที่ทาง โคเรียคิง ประเทศไทย จะออกมาบอกว่า เป็นรุ่นคนละเกรดกับที่ขายในไทย และหยุดจำหน่ายรุ่นดังกล่าวมากว่า 1 ปีแล้ว แต่ทว่าข้อสงสัยก็ยังไม่หมดไป เพราะราคาขายอยู่ที่หลักหมื่น แถมลดราคาเหลือ 3,000 บาท อีกทั้งยัง 1 แถม 1 อีกต่างหาก หลายคนจึงอยากรู้ว่าแพงเพราะอะไร
โดย รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกระทะโคเรียคิง รุ่นเพชร มาหั่นทดสอบว่าเจ้ากระทะใบดังกล่าวเคลือบอะไรบ้าง โดยเริ่มจากขั้นตอนการหั่น ซึ่งหลายคนก็ใจจดใจจ่อรอดูผลการทดลอง
และล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 รศ. ดร.วีรชัย ได้ส่งผลตรวจสอบให้ สคบ. แล้ว โดยระบุว่า
1. เนื้อกระทะทำมาจากอะลูมิเนียมเสริมเหล็ก
2. เนื้อกระทะเคลือบด้วยโพลิเมอร์
3. ตรวจสอบดูชั้นเคลือบของกระทะ พบว่าไม่ได้มี 8 ชั้น แต่ยังไม่ระบุว่ามีมากกว่าหรือน้อยกว่า 8 ชั้น และไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะ
หลังจากนี้ สคบ. จะรอผลตรวจสอบของเอ็มเทคที่ตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความร้อนของกระทะว่ารองรับอุณหภูมิถึง 400 องศาเซลเซียสหรือไม่ รวมถึงความคงทนของวัสดุ และผลตรวจของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่ตรวจสอบเรื่องความเป็นพิษและสารปนเปื้อน หากได้ผลตรวจครบทั้ง 3 หน่วยงาน จะชี้แจงอีกครั้ง
ขณะที่ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำในโฆษณาดังกล่าวเป็นคำที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าตัวกระทะนั้นทำมาจากหินอ่อน แล้วยังบอกถึงสรรพคุณว่าใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วยหินอ่อนเงิน หินอ่อนทอง พร้อมด้วยเทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย ซึ่งจริง ๆ แล้วจากการที่ได้นำไปตรวจสอบดูชั้นการเคลือบของกระทะดังกล่าว พบว่าไม่ใช่กระทะหินอ่อนตามที่โฆษณา เป็นเพียงอะลูมิเนียมอัลลอย หรืออะลูมิเนียมบวกกับเหล็ก เคลือบเอาไว้กับตัวกระทะเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างกับกระทะที่เคลือบเทฟลอนตัวอื่น ๆ ที่ทำให้อาหารไม่ติดกระทะ ส่วนวิธีการเคลือบก็จะเคลือบหลายชั้น และตัวที่ใช้เคลือบก็จะทำเป็นลวดลายให้คล้ายกับหินอ่อนเท่านั้น
ทั้งนี้ทาง สคบ. ได้ยื่นจดหมายเชิญบริษัทผู้นำเข้ากระทะโคเรียคิง เข้ามาชี้แจง ใน 3 ประเด็น คือ
1. การกำหนดราคา
2. คุณภาพของสินค้าที่ระบุในการโฆษณา
3. การลด แลก แจก แถม เพื่อพิจารณาว่าการโฆษณาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าหรือไม่
ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่าผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิง มีสิทธิ์ขอเงินคืน หรืออาจจะเป็นทาง สคบ. เองที่จะต้องยื่นมือเข้าไปเจรจาเพื่อให้บริษัทคืนเงินผู้บริโภค หรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภค
ภาพจาก ไทยพีบีเอส