วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดผ่านระบบ Video Conference และได้มอบหมายให้ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม (วช.) ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) เข้าร่วม ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ดร.ธนิต ใจสอาด กรมโยธาธิการและผังเมือง (ส่วนกลาง) เป็นผู้ให้ข้อมูลทางวิชาการด้านแผ่นดินไหว ผู้แทนทั้งภาครัฐหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน นักวิจัย สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรม The Heritage Chiang Rai
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศมีพันธกิจในการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้ริเริ่มแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย และการให้บริการวิชาการที่มีคุณภาพในระดับอาเซียน สามารถนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดยการประชุมวิชาการในวันนี้ นักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดการประชุมวิชาการ เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ตระหนักรู้ ในการป้องกัน บรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว และแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบันไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประเด็น “การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั้งภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศเมียนมาร์ แผ่นดินไหวในครั้งนั้นสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินและความเสียหายส่วนใหญ่เกิดกับอาคารสถานที่ ทั้งบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการ โบราณสถาน และเส้นทางคมนาคม ซึ่งปีนี้ 2567 จะครบรอบ 10 ปี ที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้นำข้อมูลทางวิชาการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตเพื่อให้ความรู้กับประชาชนและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
ดร.ธนิต ใจสอาด กรมโยธาธิการและผังเมือง (ส่วนกลาง) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น “การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว” การออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้นั้น วิศวกรผู้ออกแบบจะต้องพิจารณารูปแบบของอาคารตามหลักพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง และหลักมาตรฐานอ้างอิง ตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ในการออกแบบสร้างอาคารที่ถูกต้องตามหลักของรายละเอียดโครงสร้างข้อบังคับของกฎหมายกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง และการอาคาร ให้มีความน่าอยู่และปลอดภัย ร่วมดำเนินกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาปรับปรุงงานผังเมืองและโยธาธิการ ให้มีมาตรฐานรองรับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และมีกรอบการพัฒนาเมืองที่ตอบสนองความต้องการทางสังคม เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง
โดย กิจกรรมภายในงานเป็นการเสวนาวิชาการในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ประเด็น “ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง” โดย ดร.วีระชาติ วิเวกวิน กรมทรัพยากรธรณี และคณะ
- ประเด็น “การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่” โดย ผศ.ดร.ฐิตยา สารฤทธิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ
- ประเด็น “การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว” โดย คุณอารุณ ปินตา ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 และคณะ
- ประเด็น “การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย” โดย ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ
- ประเด็น “การขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท” โดย รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ มูลนิธิมดชนะภัย
ทั้งนี้ (วช.) อยู่ระหว่างดำเนินการสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะช่วยให้สามารถศึกษาวิจัย ในระดับที่ทัดเทียมกับนานาชาติ รวบรวมองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป็นเวทีในการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดสำหรับการนำบทเรียนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และเตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวในอนาคต