จากรายงานสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่าช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมีจำนวน 3.19 ล้านคน หดตัวลง 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยหดตัว 20.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นับเป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นตามลำดับของนักท่องเที่ยวจีน
สำหรับทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่เหลือของปี 2560 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะทยอยกลับมาดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจจีนเริ่มกลับมาทำตลาดท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายการบินของจีนที่ขยายเส้นทางการบินมายังประเทศไทย และการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและที่พักของบริษัทจีนที่เข้ามาทำตลาดในไทย
นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี คือ สถานการณ์ระหว่างจีนและเกาหลีใต้ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ โดยทาง China National Tourism Administration ได้ขอให้ทางบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่ของจีนระงับการทำตลาดและการขายแพ็คเกจท่องเที่ยวไปยังประเทศเกาหลีใต้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
จากรายงานของ Korea Tourism Organization พบว่า ในเดือน มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา จำนวนคนจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศเกาหลีใต้หดตัวลง 40% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ หน่วยงานการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ได้ประเมินว่า ปัญหาระหว่างจีนและเกาหลีใต้อาจจะทำให้ในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดหายไปไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าน่าจะเป็นโอกาสให้กับตลาดท่องเที่ยวของไทย ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้โอกาสนี้ในการทำตลาดมากขึ้น อาทิ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวกับบริษัทนำเที่ยว หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปใช้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีน ขณะนี้ มีความท้าทายค่อนข้างมาก จากการแข่งขันที่สูงระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวจีนให้เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ”
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียให้ความสนใจที่จะดึงนักท่องเที่ยวจีน ทั้งด้านการดำเนินนโยบายด้านวีซ่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวจีน การชูจุดขายผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวใหม่ในการทำตลาด อาทิ อานิสงส์จากหนังเรื่อง Kong: Skull Island ที่มีการถ่ายทำที่ประเทศเวียดนาม ทำให้สถานที่ถ่ายทำหนังได้กลายมาเป็นจุดขายในการทำตลาดการท่องเที่ยวของเวียดนาม เห็นได้ว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวที่ประเทศเวียดนามเติบโต 61.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวในบางประเทศมีการแข่งขันทางด้านราคาที่ค่อนข้างรุนแรง หลังจากมีการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญมีผลทำให้ตำแหน่งการตลาดของประเทศไทยถูกยกระดับขึ้น จากที่ราคาเฉลี่ยแพ็คเกจทัวร์ต่ำสุดเคยอยู่ที่ประมาณ 1,000 หยวน แต่ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยแพ็คเกจท่องเที่ยวต่ำสุดของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2,217 หยวน เห็นได้ว่า ราคาเฉลี่ยของแพคเกจท่องเที่ยวไทยอยู่ระดับใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยแพ็คเกจท่องเที่ยวต่ำสุดในหลายประเทศ อาทิ ราคาเฉลี่ยแพ็คเกจท่องเที่ยวต่ำสุดของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 2,511 หยวน เมื่อราคาไม่แตกต่างกันมากก็เกิดการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ทำให้การทำตลาดของไทยมีความท้าทายขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องมีการปรับผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวในแพ็คเกจเพื่อให้สามารถแข่งขันได้
สำหรับทิศทางของนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวในไทยปี 2560 นี้ จากปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและต่างประเทศที่ยังเอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยปี 2560 มีโอกาสกลับมาเติบโต 5.0-7.5% เมื่อเทียบกับที่เติบโต 10.3% ในปี 2559 หรือมีจำนวนประมาณ 9.20-9.40 ล้านคน
โดยการเติบโตน่าจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนน่าจะมีมูลค่า 470,000-480,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0-9.4% จากที่เติบโต 15.2% ในปี 2559
จากการรวบรวมข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน พบว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจีนยุคใหม่มีพฤติกรรมการเดินทางที่จะใช้เวลาในแต่ละสถานที่เพื่อเก็บประสบการณ์และวัฒนธรรมนานขึ้น จากเดิมที่นิยมเดินทางกับบริษัทนำเที่ยว จะมีการเดินทางด้วยตนเองในสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยจะเดินทางเป็นครอบครัว หรือเพื่อน
ขณะที่การเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์จะมีการเดินทางแบบกลุ่มขนาดเล็ก หรือมีวัตถุประสงค์การท่องเที่ยวเฉพาะ เช่น การเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของนักท่องเที่ยวจีน โดยบริษัทนำเที่ยวของจีนมีการจัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยวผนวกกับการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างการท่องเที่ยวเรือสำราญ ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจีน
นอกจากนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะเป็นกลุ่มที่มีการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้าระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวสูง แต่นักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบันจะเริ่มมองหาแหล่งซื้อสินค้าที่ให้ความคุ้มค่ามากขึ้น อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนนับเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล นิยมใช้บริการและทำธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวบนโลกออนไลน์ รวมถึงการจับจ่ายซื้อสินค้าระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวผ่านระบบการชำระเงินของจีน เช่น WeChat Payment และ Alipay ทำให้ในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยมีการติดตั้งระบบการชำระเงินในรูปแบบดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งขึ้นอยู่กับหน่วยงานท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยจะนำมาปรับเปลี่ยนเป็นกลยุทธ์การทำการตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนใหม่ๆ อาทิ เทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านการแพทย์ อีกทั้งรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพและการแพทย์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวของไทยอาจจะมีการปรับแพ็คเกจการท่องเที่ยวนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวพร้อมกับการบริการทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก
จากผลสำรวจนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้บริการของ Ctrip พบว่า ในปี 2559 กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของจีนมีการเติบโตกว่า 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2558 โดยประมาณ50% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ใช้บริการตรวจสุขภาพ สำหรับประเทศที่นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้เลือกเดินทางไปใช้บริการทางการแพทย์เป็นอันดับที่ 1 คือ ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ใน 10 อันดับแรกที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของจีนเลือกเดินทางไปใช้บริการทางการแพทย์
นอกจากนี้ เมื่อนักท่องเที่ยวจีนยุคใหม่นิยมการท่องเที่ยวแบบเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวชุมชนน่าจะสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะร่วมมือกับกลุ่มผู้พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในการพัฒนาตลาดร่วมกัน หรือการท่องเที่ยวเรือสำราญ ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตของนักท่องเที่ยวจีน แต่เนื่องจากเจ้าของธุรกิจเดินเรือเป็นผู้ประกอบการจีน ดังนั้น หน่วยงานรัฐและภาคเอกชนอาจจะต้องมีการทำการตลาดร่วมกับผู้ประกอบการจีนในการที่จะเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือมายังประเทศไทยมากขึ้น