เตรียมจัดส่งปลายทางไต้หวัน ผ่านการขนส่งทางเรือ ขยายผลจับกุมผู้ส่งสินค้าชาวไทย 1 คน
เมื่อวันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2567 ณ สำนักงาน ป.ป.ส. : พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายปฤณ เมฆานันท์ ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.,พ.ต.อ.วรัตม์ เจตนานนท์ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด,นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร แถลงผลการ ตรวจยึดคีตามีน 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็ก เตรียมจัดส่งไปปลายทางไต้หวัน ผ่านการขนส่งทางเรือ และขยายผลจับกุมผู้ส่งชาวไทย 1 คน เหตุเกิดที่ บริษัทขนส่งเอกชน ในพื้นที่ กทม.
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การตรวจยึดคีตามีน 320 กิโลกรัม ดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ หน่วยปฏิบัติการ SITF และ เจ้าหน้าที่ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) ปฏิบัติการเฉพาะกิจร่วม ไทย-ออสเตรเลีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดการฟอกเงิน และอาชญากรรมข้ามชาติ (Taskforce Storm) โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ทางการออสเตรเลียตรวจยึดไอซ์ 108 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในเครื่องแปรรูปอาหาร ส่งมาจากประเทศไทย ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลจนกระทั่งทราบว่า ผู้ดำเนินการจัดส่งสินค้าดังกล่าวเป็นหญิงชาวไทย จึงดำเนินการสืบสวนติดตามพฤติการณ์เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2567 ทราบว่าหญิงไทยคนดังกล่าว ได้ดำเนินการจัดส่งสินค้าประเภทหุ่นยนต์เหล็ก ไปยังปลายทางประเทศไต้หวัน จึงเป็นเหตุต้องสงสัยว่าจะมีการซุกซ่อนยาเสพติดไปกับสินค้าดังกล่าว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จึงบูรณาการความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมศุลกากร กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) ดำเนินการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว ผลการตรวจสอบพบ คีตามีน 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็ก (ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าครั้งนี้ 180,000 บาท) เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตรวจยึดยาเสพติดดังกล่าว และดำเนินการขยายผลสืบสวนติดตามจับกุมผู้ส่งสินค้าที่ซุกซ่อนยาเสพติดได้ ในวันที่ 25 เมษายน 2567 โดยผู้ต้องหาให้การว่าได้รับคำสั่งจากหญิงชาวลาวให้ดำเนินการจัดส่งสินค้า
ที่ผ่านมาในห้วงปี 2565–2567 ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) ได้ดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดที่เตรียมส่งออกไปยังประเทศที่สาม ผ่านท่าเรือพาณิชย์ โดยปริมาณยาเสพติดเป็นประเภท ไอซ์กว่า 1.8 ตัน เฮโรอีน 265 กิโลกรัม ประเทศปลายทาง คือ ออสเตรเลีย,ไต้หวัน,มาเลเซีย และ ฮ่องกง โดยในช่วงหลังพบว่าขบวนการค้ายาเสพติดใช้การลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่าน ท่าเรือเอกชน/ท่าเรือส่วนบุคคล ในพื้นที่ภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี,จ.ระยอง,จ.ตราด และ จ.ฉะเชิงเทรา) โดยบรรทุกยาเสพติดใส่ในเรือบรรทุกสินค้า (เรือประมง,เรือหางยาว,เรือสปีดโบ๊ท) และลำเลียงไปส่งยังเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่จอดรออยู่บริเวณน่านน้ำสากล เพื่อลำเลียงไปยังปลายทางประเทศที่สาม เนื่องจากสามารถลำเลียงยาเสพติดได้ในปริมาณมาก และบริเวณเขตน่านน้ำสากลที่ใช้ในการขนถ่ายยาเสพติด ไม่มีอำนาจอธิปไตยและรัฐใดๆ ควบคุม ส่งผลให้การลักลอบขนส่งยาเสพติดทางทะเลอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งในห้วงปี 2565–2567 พบสถิติการจับกุมและตรวจยึดยาเสพติดประเภท ไอซ์กว่า 4 ตัน คีตามีนกว่า 2 ตัน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ายาเสพติดในลักษณะเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สามยังพบอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการขนส่งทางพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ ผ่านการขนส่งทางอากาศ และ ซุกซ่อนในสินค้าต่างๆ ผ่านการขนส่งทางเรือ ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีโครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task force : AITF) และ สกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) เป็นหน่วยปฏิบัติต้นทางในการสกัดกั้นการนำยาเสพติดเข้าพื้นที่ตอนใน และส่งออกไปยังประเทศที่สาม ทั้งนี้ การปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จเป็นผลจากความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งเป็นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการให้ประสานงานกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เช่นในครั้งนี้ที่ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวการสืบสวนร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) จนนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการทำลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ดังกล่าว