เปิดโผ 8 อาชีพเสี่ยงตกงาน ผลพวงจากยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ยันไม่ต้องห่วงตกงาน มั่นใจคนไทยจะมีงานที่ดี-รายได้ดีขึ้น
หลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ชูนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และภาคบริการของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2579 นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 4 พฤษภาคม 2560 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรืออีคอนไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อีคอนไทย ได้ประเมินเบื้องต้น พบว่ามี 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงานจากเทคโนโลยี 4.0 หากไม่ปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับบริบท ดังนี้
1. พนักงานขายปลีกหน้าร้าน, ในห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ และพนักงานขายตรง
2. พนักงานโรงแรม
3. พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงิน
4. แรงงานในอุตสาหกรรม
5. แรงงานในภาคโลจิสติกส์
6. บุรุษพยาบาลดูแลคนสูงวัยหรือผู้ป่วย
7. คนขับรถยนต์ทั้งรถยนต์และรถบรรทุก
8. เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในภาคธุรกิจต่าง ๆ
นายธนิต กล่าวอีกว่า ในความจริงแล้วมีมากกว่า 8 อาชีพที่มีความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงนอกเหนือจากนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น คิดเป็นสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออกของไทยที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ทั้งนี้ ในสัดส่วน 80% ดังกล่าว มี 25% ที่มีความเปราะบางมาก เพราะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีมากนัก ทำให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เห็นได้จากการส่งออกสินค้าของกลุ่มนี้มีการติดลบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามี 10 อุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผ้าผืน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง หัตถอุตสาหกรรม เครื่องไมโครเวฟ และสื่อสิ่งพิมพ์ ในอุตสาหกรรมเหล่านี้หากไม่มีการปรับตัวโอกาสคนจะตกงานมากขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงรอยต่อยุค 4.0 นี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปภาคแรงงานให้ก้าวผ่านไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น
โดยเรื่องแรกต้องส่งเสริมค่านิยมเรียนสายอาชีวะ เพราะเป็นที่ต้องการ และเป็นแรงงานสำคัญ เรื่องที่ 2 ภาคแรงงานของไทยจากผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน มีแรงงานอายุ 49 ปีขึ้นไป อยู่ในระบบมากถึง 46% และในสัดส่วนดังกล่าว พบว่า 50.5% มีการศึกษาไม่เกินระดับประถม ในจำนวนนี้แรงงาน 1.2 ล้านคน ไม่มีการศึกษา ประเด็นนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษว่าจะพัฒนาอย่างไร จะไปวางไว้ตรงไหน
นอกจากนี้ เรื่องที่ 3 ผู้ประกอบการ SME ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเสริมทักษะความรู้ให้แรงงานของตน ส่วนเรื่องที่ 4 องค์กรที่เกี่ยวกับแรงงานต้องปฏิรูปบทบาทในการยกระดับพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเพิ่มหรือเปลี่ยนทักษะใหม่ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และสังคมแรงงานสูงอายุ
และเรื่องที่ 5 กระทรวงแรงงานต้องเลิกยึดติดกับการเป็นกระทรวงด้านสังคม และปรับตัวเชิงรุกเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยที่ต้องทำก่อนคือเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ดูทันสมัยเพื่อก้าวผ่านไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
ด้าน พล.อ. ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นยํ้าในวันแรงงานที่ผ่านมาว่า ไม่อยากให้พี่น้องกังวลว่ายุคไทยแลนด์ 4.0 จะตกงาน ขอยืนยันว่าคนไทยทุกกลุ่มจะไม่มีการตกงาน กลับกันจะมีอาชีพ และรายได้ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงแรงงานจะดำเนินการสำรวจแรงงานในแต่ละกลุ่ม ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด และมีความจำเป็นต้องเสริมความเข้มแข็งของแรงงานในระดับต่าง ๆ อย่างไร เพื่อปรับทักษะฝีมือขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ที่มา:https://money.kapook.com/view170744.html