จากนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.,พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่กระทำความผิดทุกรูปแบบ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เร่งทำการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา ตามหมายจับเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์ โดยชุดลาดตระเวนออนไลน์ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. ได้ตรวจสอบพบการกระทำความผิดในลักษณะท้าวแชร์ทางออนไลน์ หลอกให้ร่วมลงทุน ให้ผลตอบแทนสูงมาก มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ร่วมลงทุนเสียหายหลายล้าน โดยบุคคลดังกล่าวใช้ชื่อเฟซ “Lita Rodphan” โพสต์เชิญชวน ตรวจสอบพบว่า มีหมายจับติดตัว 4 หมายจับ และหลบหนีไปมาอยู่ตลอด โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลากว่า1ปี ในการสืบสวนติดตามจับกุม
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.,พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น.,พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ได้สั่งให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.,พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก สส.บช.น.,พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น.,พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี,พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น.,พ.ต.ต.ทศรัสมิ์ กิติธารา สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ ชุดปฏิบัติการที่ 4 ได้ร่วมกันจับกุมตัว
นางสาวลิตา อายุ 27 ปี ภูมิลำเนา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรีผู้ต้องหาตามหมายจับจำนวน 4 หมาย ดังนี้ 1.ศาลอาญามีนบุรี ที่ 1064/2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”,2.หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ 80/2565 ลงวันที่ 28 มกราคม 2565
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกง”,3.หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ 156/2565 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชนและให้กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์” และ 4.หมายจับศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ 305/2564 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน,ฉ้อโกง,ผู้ใดกระทำความผิดโดยการ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
โดยจับกุมที่ บริเวณลานจอดรถ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พฤติการณ์ ก่อนเกิดเหตุเมื่อประมาณเดือนต้นเดือนตุลาคม 2564 ขณะที่ผู้เสียหายกำลังพักผ่อนและเล่นเฟซบุ๊กอยู่ที่บ้านพัก ได้เห็น น.ส.ลิตา ผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสเชิญชวนบุคคลทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กให้ร่วมลงทุนออมเงินออมทอง
โดยใช้ชื่อทุนว่า “บ้านออมลิตา V.๓ นายทุนราย 4 วัน” ถ้าหากลงทุน 100,000 บาท จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นเงินจำนวน 137,000 บาททุกวันจำนวน 4 วันโดยแบ่งจ่ายวันละ 34,250 บาท โดยเวลารับดอกเบี้ยคืนในวันรุ่งขึ้นของอีกวัน ต่อมาผู้เสียหายสนใจจึงร่วมลงทุนกับ น.ส.ลิตาฯจึงโอนเงินจำนวน 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชีน.ส.ลิตาฯ โดยโอนผ่านแอปธนาคาร หลังจากโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ผู้เสียหายได้แจ้งให้น.ส.ลิตาฯทราบและน.ส.ลิตาฯได้บอกว่าจะโอนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหาย 4 วัน วันละ 34,250 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 137,000 บาท และต่อมาผู้เสียหายได้ร่วมลงทุนกับน.ส.ลิตาฯอีก เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยโอนผ่านแอปของธนาคาร เมื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ผู้เสียหายได้แจ้งให้น.ส.ลิตาฯทราบ และน.ส.ลิตาฯได้บอกว่าจะโอนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ในวันที่ รวมเป็นเงิน 137,000 บาท และเมื่อถึงกำหนดนัดหมายคืนเงินที่ผู้เสียหายลงทุนน.ส.ลิตาฯ ไม่ยอมคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืน ผู้เสียหายพยายามติดตามทวงถามแต่ได้รับการผัดผ่อนเรื่อยมาและได้รับแจ้งว่าไม่มีเงินจ่ายคืนให้และไม่สามารถติดต่อได้ การกระทำดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายจึงมาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับน.ส.ลิตาฯในความผิดฐาน”ฉ้อโกง และ/หรือความผิดที่เกี่ยวข้อง”จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
สอบถามผู้ต้องหาให้การรับว่า ตนได้เปิดบ้านวงแชร์ออมเงินออมทองจริง และไม่ได้คืนเงินให้กับผู้เสียหาย แต่อ้างว่าได้เงินไปลงทุนกับอีกท้าวแชร์อีกเจ้า ที่บอกให้ตนไปหาลูกค้ามาให้ และยังบอกว่า ตอนนี้กำลังขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินไปคืนกับผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาเคยไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันหันมาประกอบอาชีพขายของออนไลน์
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอฝากเตือนว่า โลกปัจจุบันที่ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงมีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านการเล่นแชร์ออนไลน์ โดยจะมีการโฆษณาชักชวน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าได้ผลกำไรสูง ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะทำให้ตายใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาไว้เพื่อเป็นการหลอกให้ลงทุนสูงขึ้น และบางคนถึงขั้นไปชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาร่วมลงทุนอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายมิจฉาชีพมักจะอ้างว่าธุรกิจขาดทุน มีปัญหา จึงไม่สามารถส่งเงินได้ตามปกติ พร้อมทั้งบอกกับผู้เสียหายว่าอย่าเพิ่งแจ้งความ สุดท้ายจะตัดการติดต่อและหลบหนีไปในที่สุด