NASA เผยเซตภาพถ่ายดาวเสาร์ระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกภาพมาก่อน จากยานแคสสินี กับภารกิจสุดเสี่ยงอันตราย
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ได้เปิดเผยภาพถ่ายของวงแหวนดาวเสาร์ในระยะใกล้ จากยานอวกาศแคสสินี (Cassini) ซึ่งได้เคลื่อนตัวเข้าไปในช่องแคบระหว่างดาวเสาร์และวงแหวนดาวเสาร์ในจุดที่ไม่เคยเข้าไปถึงมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกหลังจากที่เคยมีการส่งเข้าไปทั้งหมด 22 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจที่เสี่ยงอันตรายมากสุด ๆ
โดยก่อนหน้านี้ทางทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่ายานแคสสินี ยังอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ ภายหลังจากที่ส่งเข้าไปที่จุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 เนื่องจากยานแคสสินีจำเป็นต้องใช้จานรับสัญญาณซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตรเป็นเกราะกำบัง จึงทำให้ตัดขาดการเชื่อมต่อกับโลกไป กระทั่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน เวลา 03.01 น. ตามเวลาสหรัฐฯ ยานแคสสินี ได้ส่งสัญญาณข้อมูลกลับมายังโลก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงหลังจากผ่านเข้าไปในช่องว่าง
โดย NASA ได้เผยชุดภาพแรกของดาวเสาร์ในระยะใกล้ ซึ่งเป็บภาพดิบที่ไม่ผ่านการปรับแต่งใด ๆ ออกสู่สาธารณะ เผยให้เห็นชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ในระยะใกล้ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกภาพมาก่อน โดยในภาพสามารถมองเห็นพายุเฮอริเคนขนาดใหญ่เคลื่อนตัวโฉบผ่านพื้นผิวของดาวเสาร์ด้วย
สำหรับยานแคสสินีถูกส่งขึ้นไปจากโลกเมื่อปี 2540 ก่อนจะเดินทางไปถึงดาวเสาร์เมื่อปี 2547 ซึ่งภายหลังจากยานแคสสินีได้บินผ่านไททัน (Titan) ดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวเสาร์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 ยานแคสสินีก็ได้เริ่มต้นเข้าสู่ภารกิจ แกรนด์ฟินาเล (Grand Finale) หรือ ภารกิจใหญ่ครั้งสุดท้าย โดยยานแคสสินีใช้เวลาวนรอบดาวเสาร์ประมาณ 1 สัปดาห์ และจากข้อมูลที่ยานแคสสินีเคลื่อนตัวเข้าไประหว่างดาวเสาร์และวงแหวนตั้งแต่ครั้งแรก ช่วยให้ทางทีมวิศวกรทราบวิธีปกป้องยานอวกาศที่ต้องผ่านในครั้งต่อไป
โดยหลังจากความสำเร็จครั้งนี้ ยานแคสสินีจะถูกส่งเข้าไปที่ช่องแคบระหว่างดาวเสาร์และวงแหวนอีกครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ภารกิจแกรนด์ฟินาเลครั้งนี้ จะมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2560 หลังจากนั้นยานแคสสินีจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์
ภาพจาก NASA/JPL-Caltech/Space Science Institute