หอการค้า สำรวจแรงงานต้องการปรับค่าแรง 410 บาทต่อวัน ในอีก3ปี ขอรัฐบาลช่วยค่าครองชีพหอการค้า ขณะที่ แรงงานยังมีหนี้สินเพราะรายได้ไม่พอ บางส่วนมองเศรษฐกิจยังแย่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงทัศนะต่อการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในอนาคตของแรงงานไทย พบว่า ร้อยละ 86.7 เห็นควรให้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.8 เห็นว่าควรปรับขึ้นทุกปี ร้อยละ17.7 เห็นว่าควรให้ปรับขึ้นทุก 2 ปี และร้อยละ 26.5 เห็นควรให้ปรับขึ้นตามภาวะค่าครองชีพ โดยในอีก 3 ปี ข้างหน้าแรงงานส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 410 บาทต่อวัน แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงและส่งผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น อาชีพรับจ้างร้อยละ 44.6 จะไม่สามารถรับได้ เพราะยังกังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศ,รายได้ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ,การตกงาน,การชำระหนี้ไม่เพียงพอและภาวะหนี้สินในปัจจุบันยังสูงโดยแรงงานยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของค่าน้ำค่าไฟ,การได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นและการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
นายธนวรรธน์ ยังเปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนะสถานภาพแรงงานไทยกรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จากกลุ่มตัวอย่าง 1,258 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 97 ยังมีภาวะหนี้ โดยร้อยละ 53.6 เป็นหนี้นอกระบบและเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 46.4 ซึ่งร้อยละ 78.6 เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะรายได้ไม่เพียงพอและสำหรับในช่วงวันแรงงาน กิจกรรมที่ทำ คือการซื้อของ,ทำบุญ,สังสรรค์และทานอาหารนอกบ้านตามลำดับ โดยมีรายจ่ายเฉลี่ย 1,335 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 45.2 เห็นว่าบรรยากาศวันแรงงานปีนี้ยังคึกคักพอๆกับปีก่อน
อย่างไรก็ตามทัศนะของแรงงานที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันร้อยละ 35 เห็นว่าเศรษฐกิจยังทรงตัวร้อยละ 28.3 เห็นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ในขณะที่มีแรงงานร้อยละ 19.2 เห็นว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงมาก