แหล่งผลิตดินสอพองบริสุทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของแผ่นดิน สู่การทำกินที่พอเพียง ณ หมู่บ้านดินสอพอง ริมคลองชลประทานชัยนาท-ป่าสัก ในตำบลถนนใหญ่ และ ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ซึ่งภาพจากมุมสูง จะเห็นชาวบ้านใน 2 ตำบล แห่งนี้ กว่า 200 หลังคาเรือน จะมีลานตากดินสีขาวโพน และมีอาชีพหลักในการผลิตดินสอพอง เพื่อป้อนสู่ตลาด โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมโรงงาน การทำเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ทำธูป รวมถึง การทำสี ซึ่งมีทั้งสีทาบ้าน และสีโป้รถยนต์
แต่ในช่วงก่อนจะถึงเทศกาลสงกรานต์ ในระหว่างเดือน มีนาคม – เมษายน ซึ่งตรงกับสภาพอากาศของเมืองไทยที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะที่จังหวัดลพบุรี อุณหภูมิร้อนระอุ ทะลุกว่า 40 องศา ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ชาวบ้านหมู่บ้านดินสอพองที่ลพบุรี จะเร่งรีบทำดินสองพอง ซึ่งมีวัตถุดิบ ที่ใช้เป็นดินขาว ดินมาร์ล หรือ ดินสอพองในท้องถิ่น ในพื้นที่ ของจังหวัดลพบุรี นำมาผ่านขบวนการฉีดน้ำ และกรองเศษหิน เศษดินออก แล้วนำน้ำดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นโคลนสีขาวลงสู่บ่อพัก รอจนดินตกตะกอนกายเป็นชั้นแป้งละเอียด แล้วจึงตักน้ำออก นำแป้งที่ยังเปียกๆ มาใส่แท่นพิมพ์ กดเป็นรูปแป้งดินสอพอง หรือที่ชาวดิน เรียกว่าดินตุ่ม หรือ ดินตุ้ม ตากแดดจนแห้งสนิท โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้าวันไหนแดดดีตลอดทั้งวันก็จะใช้เวลาเพียงแค่ 1 วัน แบบหยอดตอยเช้า เย็นก็สามารถจะเก็บนำไปบรรจุใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ออกจำหน่าย ซึ่งขั้นตอนการทำดินสอพอง ของหมู่บ้านดินสอพองที่ลพบุรี จะไม่มีการใส่สี หรือ แต่งกลิ่น แต่อย่างใด จึงถือว่าเป็นดินสอพองที่บริสุทธิ์ และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
โดยที่หมู่บ้านดินสอพองทั้ง 2 ตำบล แห่งนี้ จะผลิตดินสองกันเกือบทั้งปี เฉลี่ยปีละ 8-9 เดือน ยกเว้นช่วงฤดูฝน แต่ส่วนใหญ่จะทำส่งภาคอุสาหกรรม ยกเว้นก่อนที่จะถึงเทศกาลสงกรานต์ ของทุกๆ ปี ชาวบ้านจะหันมาหยอดดินสอพองเป็นก้อนเล็กๆ หรือที่เรียกว่าดินตุ้ม ซึ่งมักจะถูกนำไปละลายน้ำ เพื่อใช้เล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และตรงกับความต้องการของตลาด โดยแต่ละวันจะมีพ่อค้าคนกลางและผู้ที่สนใจมารับซื้อถึงที่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนถึงนี้ จะมีดินสอพองผลิตออกจากหมู่บ้าน ไปยังทั่วประเทศ เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 150-200 ตัน ต่อวัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ทำให้มีเด็กๆ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ หันกลับมาสนใจในอาชีพ ท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้น…..
โดยเฉพาะในปีนี้ ดินสอพองมีราคาดี…กว่าในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้ผลักดันเทศกาลสงกรานต์สู่ Festival ระดับโลก เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ส่งผลให้ความต้องการใช้ดินสอพองในปีนี้ คึกคักกว่าในช่างหลายปีที่ผ่านมา จนผลิตกันไม่ทัน เพราะมีพ่อค้าคนกลางหมุนเวียนกันเข้ามารับซื้อถึงลานตาก….
ขณะที่….. นายรัชพล เกียรติวินัยสกุล นายกเทศมนตรีตำบลถนนใหญ่ จ.ลพบุรี
ในฐานนะเจ้าของพื้นที่ และได้มีการผลักดันกลุ่มอาชีพของชาวดิน (ดินสอพอง) ให้เป็นไปในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน หมู่บ้านดินสอพอง กล่าวว่า…….. “ดินสอพอง” ปีนี้ ราคาดี กว่าหลายปีที่ผ่านมา …. โดยดินสอพอง หรือ ดินมาร์ล ที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับนำมาผลิตเป็น แป้งดินสอพอง ด้วยวิธีการหยอด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดินตุ่ม” ที่มักถูกนำไปผสมน้ำเล่นสงกรานต์ เป็นดินในพื้นที่ของตำบลถนนใหญ่ ของจังหวัดลพบุรี มีลักษณะเด่นที่ชาวบ้านเรียกว่า….ดินนอนดี….. ซึ่งช่วงนี้ ดินสอพองราคาดีมาก ขายได้ตันละ 7,000 ถึง 9,000 บาท ซึ่งปกติตันละ 2,000 ถึง 3,000 บาท เอง ทั้งนี้ เกิดจากการที่รัฐบาลได้ส่งเสริมเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ดินสอพอง ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ส่งผลเสรฐกิจดีต่อพี่น้องชาวดิน อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องประชาชนเล่นแป้งดินสอพองอย่างสุภาพ เพื่อให้ดินสอพองอยู่คู่กับคนไทย ไปตาบนานชั่วนาน
ทั้งนี้ นางสาว กมลรส ซ้อนใย อายุ 56 ปี อดีตประธานกลุ่มชมรมผู้ผลิตดินสอพองจังหวัดลพบุรี (ซึ่งขณะนี้หมดวาระยังไม่มีการเลือกประธานคนใหม่) กล่าวว่า…. การทำดินสอพองของจังหวัดลพบุรี มีมาช้านาน สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีการนำดินสอพองไปใช่ในพระราชวัง สืบทอดกันมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ขณะที่ปัจจุบันมีเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาทำดินสอพองกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจมีปัจจัยมาจากราคา ดินสอพอง ปีนี้ ขยับตัวสูงขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีอาชีพที่มั่นคงและได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งตนเอง…..อยากให้เด็กรุ่นใหม่…ได้ช่วยกันอนุรักษ์ ที่คู่กับจังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็น 1 ในคำขวัญของจังหวัดลพุรี (วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเลื่อง “เมืองแห่งดินสอพอง” เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เกริกก้อง แผ่นดินทองสมเด็จพระนารายณ์) ซึ่งอยากให้อยู่คูตลอดไป โดยอยากให้มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาสืบทอด ภูมิปัญญา การทำดินสอพอง เพื่อไม่ให้สูญหายไป
อย่างไรก็ตาม มีคำเตือน และคำแนะนำ จากผู้ประกอบการ ในการนำดินสอพองไปเล่นสงกรานต์ นั้น ควรนำดินสอพองไปผสมน้ำสะอาด ไม่ใช่ตักจากบ่อน้ำลำคลองมาผสม และไม่ควรผสมทั้งสี และกลิ่น ลงในแป้งดินสอพอง ส่วนการเล่นก็ควรจะเล่นกันแต่พองามตามแบบวัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ละเลงไปทั่วใบหน้า และไม่ควรให้เข้าตา เข้าปาก หลังเล่นแล้ว ให้รีบทำความสะอาดล้างออกไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ส่วนผู้ที่ผิวหนังแพ้ง่าย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณ ที่บอบบาง เช่น บริเวณใบหน้า รอบดวงตา หรือผิวหนังที่มีบาดแผล รอยถลอก เป็นสิว ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้มากกว่าผิวหนังบริเวณอื่นๆ รวมถึงผู้ที่มีบาดแผลตามผิวหนัง หรือเคยมีประวัติการแพ้แป้งดินสอพอง ก็ควรจะหลีกเลี่ยง การเล่นดินสอพอง หรือควรเลือกใช้ดินสอพองที่ผ่านการสตุผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว จะปลอดภัยกว่า ……………………..
ทั้งนี้ จังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งผลิตดินสอพองแห่งเดียว ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับประเทศ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ในปี 2561 ….แต่ก่อนชาวบ้านผลิตดินสอพองมากกว่า 200 ครัวเรือน ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม และความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมให้กับชุมชนดินสอพอง หากยังไม่มีการส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม หรือมีหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง “ภูมิปัญญาของแผ่นดิน” ของชาวบ้านแห่งนี้ อาจเลือนหายไป
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
สมชาย เกตุฉาย
ศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ