เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 9 เม.ย. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม,พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผบช.สอท. ,พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 นายวิสิฐศักดิ์ เจริญไชย ผู้จัดการส่วนงานองค์กรสัมพันธ์ AIS และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม นาย LOI 43 ปี และนาย LEE อายุ 25 ปี ทั้งสองสัญชาติฮ่องกง พร้อมด้วยของกลางเครื่องจำลองสถานี (False Base Station) แบบพกพา หรือเครื่องสติงเรย์ หรือปลากระเบน จำนวน 1 ตัว โทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง โดยจับกุมได้ที่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านปทุมวัน
พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับการประสานงานทาง AIS monitor ว่ามีคนร้ายส่งข้อความไปยังผู้ใช้บริการเครือข่าย ระบุว่า แจ้งบัญชีคะแนนกำลังจะหมดอายุ จากนั้นให้เข้าไปกดแลกสินค้า หรือแลกของสมนาคุณ และหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว บัตรเครดิต ซึ่งหากเหยื่อหลงเชื่อก็จะกดลิงค์เข้าไปที่หน้าเว็บที่คนร้ายสร้างขึ้นมาและกรอกข้อมูลเข้าไป คนร้ายก็จะดูดเงินออกไปจนเกลี้ยงบัญชี นอกจากนี้ยังพบข้อความในลักษณะต่างๆจำนวนมาก ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
หลังรับแจ้งชุดสืบสวนทำการตรวจสอบและถอดแผนพฤติกรรม กระทั่งพบว่าคนร้ายได้มีการใช้เครื่องสติงเรย์ ในการส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่งข้อความแนบลิงก์ปลอม ต่อมาได้ตรวจพบความเคลื่อนไหวได้ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จึงได้นำกำลังไปตรวจสอบ เมื่อไปถึงก็พบผู้ต้องหาทั้งสองคนในลักษณะต้องสงสัยมีการสะพายกระเป๋าเดินวนไปมา เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวขอทำการตรวจสอบ ก็พบเครื่องสติงเรย์ จำนวน 1 เครื่อง ผลิตจากประเทศมาเลเชีย ก่อนนำตัวไปตรวจค้นที่ห้องพักในโรงแรมแห่งหนึ่งย่านบางรัก ก็พบแบตเตอรี่สำรอง 1 เครื่องจึงทำการตรวจยึดไว้ ผบช.สอท. กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มิจฉาชีพจะนำเครื่อง “สติงเรย์” สะพายไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อนส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่ง SMS แนบลิงก์ปลอม ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบช.สอท.เคยจับกุมได้โดยครั้งนั้นเครื่องสติงเรย์จะมีแบตเตอรี ทำหน้าที่ชาร์จไฟอุปกรณ์, คอมพิวเตอร์ เพื่อป้อนข้อความเข้าระบบ ก่อนจะส่งเข้ามือถือประชาชน ซึ่งจะถูกติดตั้งโปรแกรมมาแล้ว, กล่องเสาสัญญาณ เพื่อปล่อยสัญญาณ และอุปกรณ์สำคัญคือ IMSI-catcher หรือ เสาส่งสัญญาณแบบพกพา แต่จากการจับกุมในครั้งนี้พบว่าคนร้ายมีพัฒนาแผนประทุษกรรม โดยนำเครื่องสติงเรย์เชื่อมต่อมือถือแทนคอมพิวเตอร์ตระเวนไปตามเป้าหมายหลัก เช่น ย่านชุมชน ตลาด หรือ ห้างสรรพสินค้า เพราะกลุ่มคนที่จับจ่ายซื้อของ มักจะใช้บริการ อินเตอร์เน็ต แบงก์กิ้ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและยากต่อการติดตาม โดยสามารถส่งข้อความได้ 2-3 หมื่นเลขหมาย ในระยะ 1 กม. อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะทำการส่งของกลางให้กับทางบก.ตอท. เพื่อทำการพิสูจน์ทราบต่อไป
จากการสอบสวนให้การว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตนและเพื่อน ได้เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซีย จากนั้นได้รู้จักกับชายคนหนึ่งไม่ทราบสัญชาติ ชื่อว่า อาเคน และได้มีการพูดคุยกันว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวต่อที่ประเทศไทย ซึ่งอาเคนได้บอกว่าหากถึงประเทศไทยให้ติดต่อมาหา จากนั้นตนและเพื่อนได้เดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ผ่าน ด่านพรมแดนสะเดาจังหวัดสงขลา เมื่อมาถึงที่กรุงเทพก็ได้มีการพูดคุยกับนายอาเคน ก่อนที่อาเคนจะให้ไปรับสิ่งของลักษณะเป็นกระเป๋าเป้ที่บริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ โดยมีคนไทยไม่ทราบชื่อมาส่งมอบให้ ซึ่งตนไม่ทราบว่าภายในกระเป๋าดังกล่าวมีสิ่งของอะไร ทราบแต่เพียงว่านายอาเคนบอกว่าหากไปท่องเที่ยวที่ไหนก็ให้สะพายไปด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้สะพายไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ
เบื้องต้นแจ้งข้อหา”ร่วมกัน ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม”